คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16/2536

 แหล่งที่มา: สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
การที่จะค้นหาเจตนาของจำเลยว่ารู้หรือไม่ว่าหนังสือรับรองความประพฤติทั้ง 20 ฉบับ เป็นเอกสารปลอม จำเป็นจะต้องอาศัยเหตุผลกรณีแวดล้อมและพิรุธแห่งการกระทำเป็นเครื่องชี้เจตนาของจำเลย จำเลยเรียนจบชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ในระหว่างที่จำเลยทำงานอยู่ที่บริษัทพ. จำเลยมีหน้าที่เพียงเป็นผู้ส่งหนังสือ ได้รับเงินเดือน ๆ ละ 2,000 บาท สภาพหรือฐานะของจำเลยเป็นเพียงเด็กรับใช้หรือนักการภารโรง คงไม่มีโอกาสรู้ถึงนโยบายการบริหารงานของบริษัทและไม่รู้ว่าหนังสือรับรองความประพฤติซึ่งพิมพ์ด้วยภาษาอังกฤษทั้งฉบับเป็นเอกสารอันแท้จริงหรือเป็นเอกสารปลอม ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยให้การยืนยันมาโดยตลอดว่า น. เจ้าหน้าที่บริษัท พ. เป็นผู้วานให้จำเลยนำหนังสือรับรองความประพฤติไปให้สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทยรับรอง โดยจำเลยไม่ทราบว่าเป็นเอกสารปลอม ยิ่งกว่านั้นเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นบริษัท พ. ได้พบใบรับรองความประพฤติปลอมอีก 18 ฉบับในตู้เก็บเอกสารของ น.ซึ่งหลบหนีไปแล้ว พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ตามป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง แต่หนังสือรับรองความประพฤติปลอมเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด สมควรให้ริบ.
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33

ผู้พิพากษา

ประพัฒน์ อุชุภาพ
บุญส่ง วรรณกลาง
สะสม สิริเจริญสุข

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android