คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5767/2537

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์ฟ้องเรียกที่ดินพร้อมบ้านพิพาทอันเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดที่ 5677 ซึ่งผู้ตายทำพินัยกรรมยกให้แก่โจทก์ไว้ จำเลยที่ 2ให้การต่อสู้ว่า ที่ดินโฉนดที่ 5677 เป็นกรรมสิทธิ์ของ ส. สามีผู้ตาย โดยส.ให้น.ถือกรรมสิทธิ์แทนส. ได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยที่ 2 การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกและค่าเช่าบ้านทรัพย์มรดกตามฟ้องหรือไม่เพียงใดย่อมหมายรวมถึงว่าที่ดินพร้อมบ้านพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายหรือไม่ด้วย เพราะหากว่าที่ดินพร้อมบ้านพิพาทมิได้เป็นของผู้ตายก็ย่อมไม่เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายอยู่ในตัว การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าที่ดินพร้อมบ้านพิพาทมิได้เป็นมรดกของส. ซึ่งตกทอดแก่จำเลยที่ 2 ผู้ตายไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมยกที่ดินพร้อมบ้านพิพาทซึ่งเป็นของ ส. ให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับมรดกและค่าเช่าทรัพย์มรดก จึงเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าที่ดินพร้อมบ้านพิพาทเป็นสินสมรสซึ่งตกได้แก่ ส. ผู้ตายไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมบ้านพิพาทผู้ตายจึงทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินซึ่งมิใช่ของตนให้แก่ผู้ใดหาได้ไม่พินัยกรรมซึ่งผู้ตายทำจึงไม่มีผลใช้บังคับนั้น ส. เบิกความไว้ในคดีอาญา สรุปได้ว่า ก่อนที่ผู้ตายจะไปทำพินัยกรรมได้ปรึกษาหารือกับส. ที่บ้านเกี่ยวกับการจัดแบ่งทรัพย์สินแก่ทายาท ผู้ตายไปทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง ส. จะไปด้วยหรือไม่จำไม่ได้ เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตาย ส. ได้บอกให้จำเลยที่ 2 ทราบว่า มีพินัยกรรมที่ผู้ตายทำไว้ ต่อมา ส. จำเลยที่ 2 โจทก์ และ ก. ไปฟังพินัยกรรม กรณีเป็นที่เห็นได้ว่า ผู้ตายไปทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินโฉนดที่ 5677 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้รับพินัยกรรมทั้งสามคนโดย ส. รู้เห็นยินยอมด้วยเมื่อได้มีการอ่านพินัยกรรม ส. ก็มิได้คัดค้านหรือเรียกร้องที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนจากผู้รับพินัยกรรมทั้งสาม ทั้ง ส. ยังได้สละมรดกของผู้ตายตามหนังสือการสละมรดกอีก จากพยานหลักฐานและพฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าวมาแสดงว่า ส. มีเจตนาสละกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดที่ 5677พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ให้แก่ผู้ตายตั้งแต่ก่อนที่ผู้ตายจะทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองแล้ว และเนื่องจากโฉนดที่ดินมีชื่อผู้ตายแต่ผู้เดียว เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ กรณีจึงไม่จำต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันอีก ผู้ตายจึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมบ้านพิพาทและทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินของตนให้แก่โจทก์ได้ โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกและค่าเช่าบ้านทรัพย์มรดกตามฟ้อง ค่าใช้จ่ายในการทำศพผู้ตาย แม้จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าเสียค่าใช้จ่ายไป 58,700 บาท แต่จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่าเสียค่าใช้จ่ายไปเป็นเงินประมาณ 30,000 บาท ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้ค่าใช้จ่ายในการทำศพผู้ตาย 30,000 บาท นั้น เป็นจำนวนตามสมควรแล้ว สำหรับค่าจ้างทนายความและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการจัดการมรดกของผู้ตายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์อันร่วมกันของกองมรดก ซึ่งจำเลยที่ 1 กระทำแทนทายาทอื่นจึงต้องหักค่าจ้างว่าความ 300,000 บาท จากกองมรดกของผู้ตายสำหรับค่าไถ่ถอนจำนองจำเลยที่ 1 เป็นผู้ไถ่ถอนจำนองที่ดินตามพินัยกรรมเป็นเงิน 130,000 บาท โจทก์ในฐานะทายาทผู้รับพินัยกรรม จึงต้องรับผิดชอบในการไถ่ถอนจำนองที่ดินตามพินัยกรรม สำหรับค่าซ่อมบ้านพิพาทตามสภาพบ้านพิพาทปลูกสร้างมาเป็นเวลานาน เมื่อมีการซ่อมแซมใหญ่ค่าซ่อมแซมจำนวน 20,000 บาท เป็นจำนวนอันสมควร ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์ต้องรับผิดค่าซ่อมแซมบ้านพิพาท 20,000 บาท นั้น ชอบแล้ว จำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวเป็นทายาทผู้รับมรดกตามพินัยกรรมของผู้ตายผู้หนึ่งเท่านั้น ทรัพย์มรดกของผู้ตายอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงทรัพย์มรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241 แต่อย่างใด โจทก์เป็นผู้รับพินัยกรรมที่ปรากฏตัวยังไม่ได้รับส่วนได้ตามพินัยกรรมโจทก์ย่อมเรียกร้องทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมได้ตั้งแต่ผู้ทำพินัยกรรมตายเป็นต้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1673 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านพิพาท และส่งมอบค่าเช่าบ้านพิพาทแก่โจทก์ กับขอให้จำเลยที่ 1แบ่งเงินค่าทดแทนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่โจทก์โดยให้โจทก์รับเงินค่าทดแทนดังกล่าวด้วยตนเองแม้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทแก่โจทก์ มิได้พิพากษาให้จำเลยที่ 1แบ่งเงินค่าทดแทนแก่โจทก์ เมื่อปรากฏว่าที่ดินพร้อมบ้านพิพาทได้ถูกเวนคืนไปแล้ว เป็นกรณีที่สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับคดีโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ได้ โจทก์จึงขอให้บังคับโดยขอรับเงินค่าทดแทนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทที่ศาลชั้นต้นอายัดไว้จากการทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้ เพราะพฤติการณ์ซึ่งทำให้การโอนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทเป็นอันพ้นวิสัยนั้นเป็นผลให้จำเลยที่ 1 ได้มาซึ่งเงินค่าทดแทน การจัดการมรดกนั้นเป็นประโยชน์ร่วมกันของกองมรดก โจทก์จึงต้องรับผิดชอบตามส่วนที่โจทก์ได้รับมรดก
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1603
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1612
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1650
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1658
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1673
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1739
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225

ผู้พิพากษา

สมพงษ์ สนธิเณร
สมศักดิ์ วิธุรัติ
ไพโรจน์ คำอ่อน

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android