คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8152/2544

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ชั้นพิจารณา จำเลยมิได้นำสืบปฏิเสธความถูกต้องของบันทึการจับกุมเมื่อฟังได้ว่า ชั้นจับกุมจำเลยได้ให้การรับสารภาพตามบันทึกการจับกุมจริง จึงใช้ยันจำเลยได้ หากจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์มิได้กระทำความผิดที่ถูกกล่าวหา ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยจะต้องให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเช่นนั้น
การที่จำเลยหลบหนีไปจากที่พักในคืนเกิดเหตุเป็นข้อพิรุธที่ชี้ให้เห็นว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริง
ผู้เสียหายที่ 1 ถูกจำเลยใช้ขวานฟันเป็นบาดแผลที่ศีรษะส่วนบนด้านหลังยาว 10 เซนติเมตร กว้างครึ่งเซนติเมตร ลึกจดกะโหลกศีรษะและกะโหลกศีรษะร้าว ส่วนผู้เสียหายที่ 2 ถูกฟันเป็นบาดแผลที่ขมับแถบซ้ายจดโหนกแก้มแผลยาว 10 เซนติเมตร กว้างครึ่งเซนติเมตร ลึกจดกะโหลกศีรษะ ที่ศีรษะด้านหน้าแถบซ้ายจดเหนือคิ้วซ้ายแผลยาว 10 เซนติเมตร กว้าง 1 เซนติเมตร ลึกจดเยื่อหุ้มกะโหลกศีรษะ กะโหลกศีรษะแถบซ้ายแตกยุบ สมองฉีกขาด กลางต้นแขนซ้ายแผลยาว2 เซนติเมตร กว้างครึ่งเซนติเมตร ลึกจดกล้ามเนื้อ และเหนือข้อศอกขวาแผลยาว3 เซนติเมตร กว้างครึ่งเซนติเมตร ลึกจดกล้ามเนื้อ บาดแผลที่ผู้เสียหายทั้งสองได้รับดังกล่าว หากแพทย์รักษาไม่ทันหรือมีโรคแทรกซ้อนอาจทำให้ผู้เสียหายทั้งสองถึงแก่ชีวิตได้ และจากลักษณะบาดแผลดังกล่าว เชื่อได้ว่าจำเลยได้ใช้ขวานฟันศีรษะผู้เสียหายทั้งสองอย่างแรง สำหรับขวานที่จำเลยใช้ฟันศีรษะผู้เสียหายทั้งสองเป็นขวานที่ใช้ในงานช่างไม้ ขนาดยาวประมาณ 1 ฟุตครึ่ง ขวานดังกล่าวเป็นขวานขนาดใหญ่สามารถใช้เป็นอาวุธทำอันตรายผู้อื่นถึงแก่ชีวิตได้โดยง่าย การที่จำเลยใช้ขวานดังกล่าวเลือกฟันที่ศีรษะผู้เสียหายทั้งสองอันเป็นส่วนสำคัญของร่างกาย ชี้ให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายทั้งสอง เมื่อผู้เสียหายทั้งสองไม่ถึงแก่ความตามเพราะแพทย์ช่วยรักษาผู้เสียหายทั้งสองไว้ได้ทัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย
การที่จำเลยมีเจตนาจะฆ่าผู้เสียหายทั้งสองเพราะมีสาเหตุโกรธเคืองเนื่องจากโต้เถียงกันเกี่ยวกับเรื่องค่าแรงโดยจำเลยเป็นช่างไม้ได้รับค่าแรงน้อยกว่าผู้เสียหายทั้งสองซึ่งเป็นช่างทาสี แล้วจำเลยได้ใช้ขวานฟันทำร้ายผู้เสียหายทั้งสองในทันทีทันใดในเวลาต่อเนื่องกัน การที่จะทำร้ายใครก่อนหลังย่อมเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะจำเลยไม่สามารถใช้ขวานฟันทำร้ายผู้เสียหายทั้งสองคนพร้อมกันทีเดียวได้ แต่เห็นเจตนาของจำเลยได้ว่าจำเลยประสงค์จะทำร้ายผู้เสียหายทั้งสองในคราวเดียวกัน เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยมีเจตนาจะทำร้ายเฉพาะผู้เสียหายที่ 1 แล้วเพิ่มเจตนาทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 อีกคนหนึ่งในภายหลังเช่นนี้แม้จะมีการกระทำหลายหนและต่อบุคคลหลายคนก็อยู่ภายในเจตนาอันนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียว ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยมาเป็นความผิดสองกรรมจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้เป็นคุณแก่จำเลยได้
ศาลอุทธรณ์ได้นำคำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมมาฟังประกอบการลงโทษจำเลย คดีจึงมีเหตุบรรเทาโทษตาม ป.อ.มาตรา 78 แต่ศาลอุทธรณ์มิได้ลดโทษให้จำเลย จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขลดโทษให้จำเลยบางส่วนด้วย
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227

ผู้พิพากษา

สุรชาติ บุญศิริพันธ์
กำพล ภู่สุดแสวง
วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android