คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5874/2544

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
กรณีตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 123 นอกจากลูกจ้างจะมีสิทธิฟ้องร้องนายจ้างต่อศาลแรงงานตามแนวทางปกติแล้ว กฎหมายยังกำหนดแนวทางใหม่ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 123 ถึงมาตรา 125 โดยให้ลูกจ้างมีสิทธิร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเสียก่อน เมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งตาม มาตรา 124 แล้ว หากนายจ้างหรือลูกจ้างไม่พอใจคำสั่งจึงนำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อให้ศาลแรงงานพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
บทบัญญัติตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 123 มีลักษณะกำหนดให้ลูกจ้างต้องเลือกใช้สิทธิทางใดทางหนึ่งแต่เพียงทางเดียว กล่าวคือจะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลแรงงานหรือจะยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานก็ได้ แต่จะใช้สิทธิพร้อมกันทั้งสองทางไม่ได้ หากลูกจ้างเลือกใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลแรงงานก็เท่ากับสละสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานไปแล้วอยู่ในตัว
การที่ลูกจ้างยื่นฟ้องโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างต่อศาลแรงงาน ขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าจ้างที่ค้างพร้อมดอกเบี้ย ถือว่าลูกจ้างเลือกใช้สิทธิที่จะฟ้องต่อศาลแรงงาน ลูกจ้างจึงหมดสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 123 แล้ว การที่ลูกจ้างได้ไปยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานอีก ในขณะที่คดีดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงาน เพื่อขอให้โจทก์จ่ายเงินค่าจ้างที่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแรงงาน ไว้แล้วและค่าจ้างในเดือนถัดมาต่อเนื่องกัน ถือว่าเป็นเรื่องเดียวกันกับค่าจ้างค้างจ่ายที่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแรงงาน พนักงานตรวจแรงงานจึงไม่มีอำนาจพิจารณาคำร้องของลูกจ้าง แม้ต่อมาลูกจ้างจะถอนฟ้องคดีไปจากศาล ก็ไม่ทำให้พนักงานตรวจแรงงานกลับมีอำนาจพิจารณาคำร้องนั้นขึ้นมาอีก คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123

ผู้พิพากษา

หัสดี ไกรทองสุก
สกนธ์ กฤติยาวงศ์
จรัส พวงมณี

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android