คำพิพากษาย่อสั้น
ตามหนังสือสัญญากู้เงินเครดิตเงินสด ข้อ 8 วรรคสอง คู่สัญญาตกลงกันว่า "ผู้กู้ยินยอมให้ธนาคารหักบัญชีเงินฝากของผู้กู้เพื่อชำระดอกเบี้ย หรือต้นเงินกู้ซึ่งถึงกำหนดชำระหรือถูกเรียกคืนตามสัญญา ข้อ 25 โดย ไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าแต่ อย่างใด" เห็นได้ว่า เมื่อต้นเงินกู้หรือดอกเบี้ยถึง กำหนดชำระนั้นเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยผู้กู้จะต้องมีอยู่ ธนาคารโจทก์จึงจะหักเงินในบัญชีนั้นชำระหนี้เงินกู้หรือดอกเบี้ย ค้างชำระได้ ส่วนโจทก์จะหักเงินนั้นชำระหนี้เมื่อใดเป็นสิทธิของโจทก์ แต่ถ้าเงินในบัญชีไม่มีหรือมีแต่ได้หักชำระหนี้ต้นเงินกู้หรือดอกเบี้ยที่ถึงกำหนดชำระหมดแล้ว การหักเงินชำระหนี้ตามสัญญาข้อ 8 วรรคสองที่กล่าวแล้วในภายหลังอีกย่อมไม่อาจกระทำได้เพราะไม่มีเงินในบัญชีที่จะให้หัก โจทก์หักเงินในบัญชีทั้งหมดชำระหนี้ที่จำเลยค้างชำระแล้วจึงนำหนี้ที่คงเหลือมาฟ้องขอให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย ฉะนั้น การที่จำเลยส่งเงินเข้าบัญชีเงินฝากภายหลังที่โจทก์ฟ้องและโจทก์นำเงินในบัญชีนั้นไปหักชำระหนี้โจทก์อีก ก็มีผลเป็นอย่างเดียวกับการที่จำเลยนำเงินนั้นไปชำระหนี้ให้โจทก์โดยตรง ดังนั้น การที่จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์ด้วยวิธีการข้างต้นโดยที่จำเลยไม่มีเงินพอที่จะชำระหนี้ให้ผู้ร้อง จึงทำให้โจทก์ได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น ชอบที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะมีคำขอให้เพิกถอนการกระทำเช่นนั้นได้
จำเลยนำเงินไปเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้โจทก์หลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดแล้ว ย่อมเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 22 24 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 จึงตกเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจขอให้ศาลเพิกถอนการชำระหนี้นั้นได้
การที่โจทก์ต้องคืนเงินแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพราะการชำระหนี้ได้ถูกเพิกถอนนั้นเป็นไปโดยผลของคำพิพากษา กรณียังถือไม่ได้ว่าได้มีการผิดนัดอันจะเป็นเหตุให้โจทก์ต้องรับผิดเรื่องดอกเบี้ย เพราะตราบใดที่การชำระหนี้ระหว่างจำเลยกับโจทก์ยังไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลให้เพิกถอนก็ยังถือว่าเป็นการชำระหนี้โดยชอบอยู่ โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดเรื่องดอกเบี้ย