คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1368/2510

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์เป็นบุตรคนเดียวของ ซ. ซึ่งเป็นบุตรของ ย. เมื่อ ฮ. ซึ่งเป็นสามีของ ย. ตาย มรดกของ ฮ. คงมีเฉพาะ 2 ใน 3 ของที่ดิน 3 โฉนด ผู้จัดการมรดกของ ฮ.มีสิทธิจัดการได้เฉพาะมรดกของ ฮ. ตอนนี้ ซ.มารดาโจทก์มิได้เป็นทายาทของ ฮ. ไม่มีสิทธิในที่ดิน 3 แปลงนี้ เพราะ ย.มารดาของ ซซึ่งเป็นมารดาโจทก์ยังมีชีวิตอยู่ ผู้จัดการมรดกจึงไม่ได้กระทำอะไรแทน ซ. ย.คงมีสิทธิเป็นเจ้าของที่ดิน 3 โฉนดทุกแปลง
เมื่อ ย. ตายในปี 2490 ที่ดิน 3 ใน 7 ส่วน ทั้ง 3 โฉนด เป็นมรดกของ ย.ตกได้แก่ทายาทของ ย. คือบุตรของ ย.ที่เกิดจากสามีเก่าและสามีใหม่ มรดกของ ย.ไม่มีผู้จัดการมรดก คงมีแต่ทายาท ทายาททุกคนไม่อยู่ในฐานะจัดการมรดกแทนทายาทอื่น ถ้า ซ. บุตรของ ย.ฟ้องขอให้แบ่งมรดกภายใน 1 ปี ซ.ก็มีสิทธิขอแบ่งมรดก ย.3 ใน 7 ส่วนของที่ดินทั้ง 3 แปลง ถ้ามิได้ฟ้องภายใน 1 ปี ก็ต้องห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 เว้นแต่ ซ.จะได้ครอบครองทรัพย์มรดกตามที่บัญญัติไว้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748 หมายความว่า เมื่อล่วงพ้นกำหนดอายุความหนึ่งปีแล้ว ทายาทที่ครอบครองมรดกเรียกให้แบ่งทรัพย์มรดกได้เฉพาะทรัพย์ที่ตนครอบครองเท่านั้น เว้นแต่ทรัพย์มรดกนั้นไม่มีทายาทคนใดครอบครองเลย ซึ่งในกรณีเช่นนี้ทรัพย์มรดกนั้นทายาทเป็นเจ้าของร่วมกันตามมาตรา 1755 เมื่อ ซ.มารดาโจทก์ได้ครอบครองที่ดินมรดกโฉนดที่ 446 แปลงเดียว ส่วนที่ดินโฉนดที่ 942 และ 943 จำเลยทั้งห้าเป็นผู้ครอบครอง ซ.ก็มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งเฉพาะที่ดินที่ตนครอบครอง โจทก์จะอ้างการจัดการมรดกของ ฮ.เป็นการกระทำแทน ซ.หาได้ไม่
จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ ฮ.โจทก์ไม่ใช่ทายาทของ ฮ. ผู้จัดการมรดกไม่มีหน้าที่จะต้องแสดงบัญชีต่อผู้ที่ไม่ใช่ทายาท
การที่ ซ.เสียภาษีที่ดินในนามของ ย.ไม่เป็นการแสดงว่า ซ.ครอบครองที่ดินแต่อย่างใด ฉะนั้น การที่โจทก์ขออ้างพยานหลักฐานเพิ่มเติมว่า ซ.เสียภาษีในนามของ ย.เมื่อสืบพยานโจทก์หมดแล้ว จึงไม่ทำให้การวินิจฉัยคดีเปลี่ยนแปลงไป
โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เป็นประเด็นว่า ทายาทอื่นหมดสิทธิหรือสละสิทธิรับมรดก และโจทก์ได้สิทธิอันใดเกินกว่าสิทธิของทายาทคนหนึ่ง จะมาอ้างในชั้นอุทธรณ์ฎีกาหาได้ไม่
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ที่ดิน 3 โฉนดเป็นมรดก ฯลฯ จำเลยเก็บรายได้มาแบ่งปันให้ทายาทเฉพาะที่ดินโฉนดที่ 446 ต่อมาเมื่อเดือนสิงหาคม 2505 จำเลยให้ ส. เช่า ได้ค่าเช่าเดือนละ 12,000 บาท ขอให้คิดบัญชีแบ่งดอกผลให้โจทก์ตามส่วนและแบ่งดอกผลตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จำเลยก็ไม่ปฏิเสธว่าไม่มีรายได้ กลับรับว่าเอารายได้มาแบ่งให้พวกของจำเลยซึ่งเป็นทายาทของ ฮ.ดังนี้ จำเลยจะอ้างว่าเป็นฟ้องเคลือบคลุมหาได้ไม่
ตัวทรัพย์ที่จำเลยให้เช่าเป็นมรดกที่โจทก์มีสิทธิได้ส่วนแบ่ง จำเลยให้เช่าตั้งแต่สิงหาคม 2505 ก่อนวันฟ้อง โจทก์จึงมีสิทธิได้รับแบ่งดอกผลคือค่าเช่าตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2505 จนถึงวันฟ้องด้วย
คำสั่งศาลที่อนุญาตให้โจทก์ฟ้องความอย่างคนอนาถาย่อมเป็นที่สุดย่อมอุทธรณ์ฎีกาอีกไม่ได้ ไม่ว่าก่อนหรือหลังศาลพิพากษา
โจทก์มิได้ฟ้องให้เอาสินสมรสใช้สินเดิม เป็นแต่บรรยายถึงสิทธิในการขอแบ่งสินสมรส จึงไม่ต้องระบุว่ามีทรัพย์อะไรเป็นสินเดิม ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม (อ้างฎีกาที่ 886/2479, 1080/2497)
มรดกที่มีผู้จัดการ เมื่อยังมิได้แบ่งให้ทายาททุกคน การจัดการมรดกยังไม่เสร็จ การแบ่งมรดกต้องแบ่งตัวทรัพย์หรือเงินราคาตามมาตรา 1750 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หากตกลงเป็นอย่างอื่น จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 ถ้ามีทายาทหลายคน ทายาทจำต้องแสดงเจตนาครอบครองต่อกันไม่ เมื่อนาง ซ.ซึ่งเป็นทายาทครอบครองทรัพย์มรดก ก็มีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกได้ จำเลยจะไปประกาศรับโอนมรดกอย่างใด หาอาจใช้ยัน ซ.ได้ไม่ และจำเลยจะอ้างอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 1382 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาใช้ยัน ซ.ก็ไม่ได้เพราะ ซ.กับจำเลยครอบครองร่วมกัน
จำเลยมิได้เป็นทายาทของ ซ.จึงยกอายุความ 1 ปี ขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นบุตรของ ซ.ไม่ได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 111
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1639
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1720
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1729
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1732
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1745
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271

ผู้พิพากษา

พจน์ ปุษปาคม
วงษ์ วีระพงศ์
ศริ มลิลา

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android