คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2036/2518

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ส.ภริยาโจทก์ได้ขายที่ดินให้แก่ ก. กับพวก ไปโดยโจทก์มิได้ให้ความยินยอม โจทก์ฟ้อง ส. และ ก.กับพวก เป็นคดีแรก ขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายเสีย ปรากฏว่า ก.กับพวกขายที่พิพาทแก่จำเลยที่ 1 ไปแล้ว โจทก์จึงขอให้ศาลเรียกจำเลยที่ 1 เข้าเป็นจำเลยร่วมในคดีนั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นว่า นิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่าง ส.กับ ก.และพวก เป็นโมฆะ ให้เพิกถอนเสีย และเพิกถอนนิติกรรมซื้อขาย ระหว่าง ก. กับพวก กับจำเลยที่ 1 เสียด้วย ศาลฎีกาพิพากษายืน ขณะที่คดีแรกอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 1 ได้ขายฝากที่พิพาทแก่จำเลยที่ 2 และที่พิพาทหลุดเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ให้ทำลายนิติกรรมการขายฝากระหว่างจำเลยทั้งสองเสีย ดังนี้ การที่โจทก์ฟ้อง ส.กับพวก ขอให้เพิกถอนนิติกรรมอันเป็นโมฆียะ ในคดีแรกนั้น ถือได้ว่าโจทก์ได้บอกล้างนิติกรรมแล้ว เมื่อในที่สุดศาลพิพากษาว่านิติกรรมดังกล่าวเป็นโมฆะ นิติกรรมนั้นย่อมเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 138 วรรคแรก การที่ ก. กับพวก โอนขายที่ดินให้จำเลยที่ 1 ก็ดีหรือจำเลยที่ 1 ขายฝากที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ก็ดีเป็นอันใช้ยันโจทก์ไม่ได้ เพราะการขายต่อ ๆ มา จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจที่จะโอนขายได้ เข้าหลักที่ว่า ผู้รับโอนไม่มีอำนาจดีกว่าผู้โอน เพราะนิติกรรมอันเดิมเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรกเสียแล้ว โจทก์ย่อมใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินตามมาตรา 1336 ได้ กรณีเช่นนี้ จะนำมาตรา 1299 และ 1300 มาปรับแก่คดีหาได้ไม่ ส่วนมาตรา 1329 นั้น ต้องได้ความว่า ได้ทรัพย์สินมาในระหว่างที่ยังไม่มีการบอกล้างโมฆียะกรรม ถ้าได้มาภายหลังบอกล้างโมฆียะกรรมแล้ว ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครอง
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 38
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 137
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 138
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1329
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android