คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1047/2518

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
จ.เป็นสามี ล. มีบุตรด้วยกัน 6 คน รวมทั้งผู้ร้องทั้งสามด้วย เมื่อ ล.ตายแล้ว จ.จดทะเบียนสมรสกับ ฉ.ไม่มีบุตรด้วยกัน แต่ ฉ.ได้จดทะเบียนรับผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบุตรบุญธรรม ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 เป็นน้องร่วมบิดาของ ฉ. ต่อมา ฉ. ตายไปโดยมิได้ทำพินัยกรรม และบิดามารดาของ ฉ.ก็ตายไปก่อนแล้ว ศาลตั้งให้ จ.เป็นผู้จัดการมรดกของ ฉ. แต่จัดการมรดกยังไม่ทันเสร็จ จ.ก็ตายไป ก่อนตาย จ.ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้ผู้ร้องทั้งสามกับพี่น้อง แม้ผู้ร้องทั้งสามไม่ใช่ทายาทของ ฉ. ผู้ร้องทั้งสามก็มีส่วนได้รับทรัพย์ที่ จ.จะได้รับแบ่งจากกองมรดกของ ฉ.ในฐานะคู่สมรส ทรัพย์สินต่าง ๆ ในกองมรดกของ ฉ.ยังมิได้แบ่งแยก คงบริคณห์ปนกันอยู่กับทรัพย์สินส่วนของ จ. เมื่อผู้ร้องทั้งสามเป็นทายาทและผู้รับพินัยกรรมของ จ. ย่อมถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของ ฉ. จึงมีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของ ฉ. ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นทายาทอันดับ 1 มีสิทธิได้รับมรดกของ ฉ. ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 เป็นทายาทลำดับ 4 ของ ฉ. จึงไม่มีสิทธิรับมรดก แม้จะมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหลายโฉนดร่วมกัน ฉ. ก็ไม่ใช่ส่วนได้เสียโดยตรงในกองมรดก เมื่อมีผู้อื่นที่สมควรกว่าเป็นผู้จัดการมรดกได้ ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 ก็ไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดก ผู้ร้องกับผู้คัดค้านต่างขอให้ตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของ ฉ. และมีคดีพิพาทกันอยู่เกี่ยวกับทรัพย์มรดกของ ฉ. ฝ่ายใดเป็นผู้จัดการมรดกฝ่ายเดียวอาจทำความเสียหายแก่กองมรดกและอีกฝ่ายหนึ่งได้ ศาลย่อมตั้งให้ผู้ร้องทั้งสามกับผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ฉ. ร่วมกัน
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1718

ผู้พิพากษา

สนิท บริรักษ์
สุธรรม วรรณแสง
สงวน สิทธิไชย

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android