คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 42/2559

 แหล่งที่มา: ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
 เผยแพร่เมื่อ: 14 ก.ย. 2559 11:25:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
คดีที่โจทก์เป็นหน่วยงานทางปกครองฟ้องขอให้จำเลยซึ่งเป็นเอกชนชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ โดยกล่าวอ้างว่าในขณะที่จำเลยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ฝ่าฝืนนโยบายและมติคณะกรรมการธนาคารโจทก์ โดยปล่อยให้มีการอำนวยสินเชื่อเกินวงเงินที่คณะกรรมการธนาคารโจทก์กำหนดเห็นได้ว่าสัญญาจ้างจำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการของโจทก์ซึ่งเป็นผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจ นั้นมีลักษณะเป็นการจ้างบริหารกิจการเพื่อจัดทำบริการสาธารณะในอำนาจหน้าที่ของโจทก์ มิใช่การจ้างแรงงานตามความความหมายของสัญญาจ้างแรงงาน ตามปพพ. มาตรา ๕๗๕ สัญญาจ้างจำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการของโจทก์ จึงเป็นสัญญาที่หน่วยงานทางปกครองให้เอกชนเข้าจัดทำบริการสาธารณะ ซึ่งเป็นสัญญาประเภทหนึ่งของสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพรบ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อการยื่นฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการอำนวยสินเชื่อโครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงานเกินกว่าวงเงินที่มติคณะกรรมการธนาคารโจทก์อนุมัติไว้ และแก้ไขหลักเกณฑ์ของโครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้าง ทำให้ธนาคารมีความเสี่ยงทางเครดิตเพิ่มขึ้น เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมติของคณะกรรมการโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ทั่วไปในการประกอบธุรกิจ มิได้เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานทางปกครอง จึงไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิด ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพรบ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นคดีละเมิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม แต่เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงตามบันทึกความเห็นของศาลปกครองกลางว่าจำเลยได้ยื่นฟ้องโจทก์เป็นเรื่องเดียวกันนี้ต่อศาลปกครองกลาง ในคดีหมายเลขดำที่ ๒๑๘๐/๒๕๕๗ ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้ผู้ฟ้องคดี (จำเลยในคดีนี้) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความรับผิดทางละเมิดแก่ผู้ถูกฟ้องคดี (โจทก์ในคดีนี้) ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นกรณีที่มีมูลความแห่งคดีเดียวกันกับคดีหมายเลขดำที่ ๒๑๘๐/๒๕๕๗ ของศาลปกครองกลาง จึงควรที่จะได้ดำเนินกระบวนพิจารณาที่ศาลเดียวกัน เพื่อให้คำพิพากษาเป็นไปในแนวทางเดียวกัน คดีนี้จึงชอบที่จะได้รับการพิจารณาพิพากษาที่ศาลปกครอง
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
  • พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android