คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5281/2554

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 9 มิ.ย. 2560 14:08:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
แม้ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 10 ระบุว่า "ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดก็ดี ถือว่าสัญญาเลิกกันทันทีโดยเจ้าของไม่ต้องบอกกล่าวก่อน และผู้เช่าซื้อยอมให้เจ้าของริบบรรดาเงินค่าเช่าซื้อที่ได้ชำระแล้วทั้งหมดเป็นของเจ้าของโดยผู้เช่าซื้อไม่มีสิทธิเรียกร้องคืน และผู้เช่าซื้อยอมส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนแก่เจ้าของโดยพลันในสภาพที่ซ่อมแซมดีแล้วโดยเรียบร้อยโดยค่าใช้จ่ายของผู้เช่าซื้อเอง..." แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามเวลาที่ระบุไว้ในสัญญามาตั้งแต่ต้น แต่จำเลยที่ 1 ก็ยอมรับไว้ แสดงว่าจำเลยที่ 1 มิได้ยึดถือเอาสัญญาข้อ 10 ที่ว่าหากโจทก์ผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่งถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันที ดังนั้น หากจำเลยที่ 1 ประสงค์จะเลิกสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 1 ต้องบอกกล่าวไปยังโจทก์ก่อนโดยให้ระยะเวลาโจทก์พอสมควรในการชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 การที่ตัวแทนของจำเลยที่ 1 ยึดรถคืนจากโจทก์เนื่องจากโจทก์ค้างชำระค่าเช่าซื้องวดสุดท้ายโดยไม่มีการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อก่อนย่อมเป็นการไม่ชอบ และตามพฤติการณ์ที่โจทก์ยังคงใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องให้จำเลยทั้งสองคืนรถที่เช่าซื้อย่อมถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกสัญญากันโดยปริยาย สัญญาเช่าซื้อจึงยังไม่เลิกกัน โจทก์ผู้เช่าซื้อชอบที่จะครอบครองใช้ประโยชน์รถที่เช่าซื้อต่อไป จำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์
สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่โจทก์มีสิทธิใช้ประโยชน์จากรถที่เช่าซื้อแต่ต้องชำระค่าเช่าซื้อเป็นการตอบแทน เมื่อโจทก์ใช้ประโยชน์โดยไม่ให้ผลตอบแทนแก่จำเลยที่ 1 ย่อมทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายเช่นกัน เป็นความเสียหายทั้งสองฝ่ายหาใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียหายแต่ฝ่ายเดียวไม่ แม้จำเลยที่ 1 ยึดรถคืนโดยที่สัญญายังไม่เลิกกันเป็นการไม่ชอบก็ตาม แต่โจทก์ก็เป็นฝ่ายผิดอยู่มากที่ค้างชำระค่าเช่าซื้อนับแต่วันที่ครบกำหนดตามสัญญาถึงวันที่ถูกยึดรถเป็นเวลา 2 ปี 2 เดือนเศษ อันเป็นเหตุให้จำเลยทั้งสองอาจเข้าใจผิดว่ามีสิทธิยึดรถที่เช่าซื้อคืน จึงเห็นควรให้ค่าเสียหายในส่วนนี้ของโจทก์เป็นพับ
เมื่อสัญญาเช่าซื้อยังไม่เลิกกันและจำเลยทั้งสองยึดรถที่เช่าซื้อคืนโดยไม่ชอบดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น โจทก์ชอบที่จะครอบครองใช้ประโยชน์รถต่อไป จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ส่งมอบรถคืนแก่โจทก์เพื่อปฏิบัติตามสัญญาต่อไป หากคืนรถไม่ได้ถือว่าเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้เพราะไม่มีวัตถุแห่งสัญญา สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยทั้งสองไม่ฎีกาโต้แย้งค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนด จึงต้องชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387

ผู้พิพากษา

พินิจ สุเสารัจ
มานัส เหลืองประเสริฐ
จักร อุตตโม

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android