คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1010/2558

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 19 ธ.ค. 2559 15:33:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับโจทก์ทั้งสอง โดยได้รับเงินมัดจำไปแล้วบางส่วน แต่จำเลยที่ 1 ไม่โอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ทั้งสองตามสัญญา โจทก์ทั้งสองไปตรวจสอบที่สำนักงานที่ดินจึงทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุตร โดยจำเลยทั้งสามรู้อยู่แล้วว่า โจทก์ทั้งสองได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 1 และได้รับมัดจำแล้วเป็นเงิน 27,000,000 บาท ถือได้ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันฉ้อฉลโจทก์ทั้งสองอันเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองบรรยายคำฟ้องไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ส่วนข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความจะนำบทกฎหมายใดมาใช้บังคับแก่ข้อเท็จจริง ย่อมเป็นสิ่งที่ศาลสามารถที่จะกระทำได้ คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงตรงกับศาลชั้นต้นว่า ในการทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุตร จำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาจะทำนิติกรรมโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จริง หากแต่กระทำเพื่อที่จะได้รับยกเว้นภาษีอากรในการทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินและจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็มิได้ชำระค่าที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันทำนิติกรรมจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริต และไม่มีการชำระเงินกันจริง จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทที่แท้จริง หากแต่ที่ดินพิพาทยังคงเป็นของจำเลยที่ 1 การแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสามในทางทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินพิพาท จึงเป็นการแสดงเจตนาลวง โดยสมรู้ร่วมคิดกันย่อมตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับคำให้การของจำเลยที่ 1 ที่ว่า เหตุที่โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เพราะเกรงเจ้าหนี้รายอื่นจะมายึดหรืออายัด ฟังประกอบกับโจทก์ทั้งสองได้บรรยายฟ้องถึงพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสามไว้โดยชัดแจ้งตลอดจนมีคำขอบังคับให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนการทำนิติกรรมโอนขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสามให้กลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 แม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้เพียงว่า จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการฉ้อฉล ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 หรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อการทำนิติกรรมโอนขายที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาลวงซึ่งตกเป็นโมฆะ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยตามศาลชั้นต้นถึงความเป็นโมฆะของนิติกรรมดังกล่าว หาเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นไม่
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155

ผู้พิพากษา

รังสรรค์ ดวงพัตรา
วีรา ไวยหงษ์ รินทร์ศรี
พันวะสา บัวทอง

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android