คำพิพากษาย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่พิพาทพร้อมบ้านพักซึ่งปลูกบนที่ดินโดยซื้อมาจากจำเลยร่วมทั้งสาม จำเลยเข้าไปอยู่อาศัยในที่พิพาทโดยไม่มีสิทธิทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ขับไล่จำเลยและให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย โดยจำเลยซื้อที่พิพาทพร้อมบ้านพักจากจำเลยร่วมทั้งสามขณะที่พิพาทเป็นเพียงที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) และเข้าครอบครองที่พิพาทแล้ว แต่จำเลยร่วมทั้งสามไม่จดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่จำเลย กลับจำนองและขายที่ดินให้แก่โจทก์ โดยโจทก์รับซื้อไว้โดยไม่สุจริต ขอให้บังคับโจทก์โอนที่ดินพิพาทพร้อมบ้านให้แก่จำเลย คดีมีประเด็นข้อพิพาทเพียงข้อเดียวว่า ที่พิพาทและบ้านพักเป็นของโจทก์หรือจำเลย และมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ซื้อที่พิพาทจากจำเลยร่วมทั้งสามโดยสุจริตหรือไม่ ไม่มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยร่วมทั้งสามคบคิดกันโอนที่พิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่ กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) ที่จะเรียกจำเลยร่วมทั้งสามเข้ามาเป็นจำเลยร่วม เพราะไม่ใช่เรื่องที่จำเลยหรือจำเลยร่วมอาจใช้สิทธิฟ้องไล่เบี้ยกันได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกให้จำเลยร่วมทั้งสามเข้ามาในคดีรวมทั้งมีคำสั่งรับฟ้องแย้งของจำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกามีอำนาจเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบเหล่านั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง แต่เนื่องจากศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ดำเนินคดีสำหรับจำเลยและจำเลยร่วมจนเสร็จสิ้นกระแสความ จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามมิได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ปัญหาว่าจำเลยร่วมทั้งสามต้องรับผิดต่อจำเลยเพียงใดจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่สมควรเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลชั้นต้น
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ไม่ได้ระบุให้แน่ชัดว่าค่าฤชาธรรมเนียมชั้นใดให้เป็นพับ แต่กลับพิพากษาให้จำเลยร่วมทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ ทั้งที่โจทก์และจำเลยร่วมทั้งสามไม่ได้พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ ส่วนจำเลยซึ่งเป็นผู้ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์แม้จำเลยได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์โดยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่ได้วินิจฉัยให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมศาลต่อศาลในนามของจำเลย ทั้งไม่ได้วินิจฉัยถึงค่าฤชาธรรมเนียมของจำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามในศาลชั้นต้นว่าจะให้ใครเป็นผู้รับผิดซึ่งเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247