คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3399/2558

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 16 มิ.ย. 2559 14:41:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
รถโดยสารคันเกิดเหตุมีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถและเป็นผู้ประกอบการขนส่ง โดยรถคันดังกล่าวนำมาใช้สำหรับการรับ - ส่งนักเรียนของโรงเรียน ส. มาตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2547 ทั้งกิจการโรงเรียน ส. ก็เป็นกิจการของครอบครัวจำเลยที่ 2 ซึ่งทำสืบทอดต่อเนื่องมาจากบิดา แม้ต่อมาจะได้มีกฎหมาย คือ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 ออกมาใช้บังคับและในมาตรา 24 มีข้อบัญญัติว่า เมื่อได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนในระบบแล้ว ให้โรงเรียนในระบบเป็นนิติบุคคลนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต และให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้แทนของนิติบุคคล แต่ในมาตรา 25 (3) ยังมีข้อบัญญัติว่า เมื่อโรงเรียนในระบบเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 24 แล้ว ผู้รับใบอนุญาตยังต้องโอนทรัพย์สินอื่นซึ่งเป็นทุนนอกจากที่ดินให้แก่โรงเรียนในระบบภายในเวลาที่ผู้อนุญาตกำหนด เมื่อรถโดยสารคันเกิดเหตุยังไม่ได้มีการโอนทางทะเบียนเป็นของโรงเรียน ส. การที่จำเลยที่ 1 ขับรถโดยสารคันเกิดเหตุไปก่อเหตุละเมิด ย่อมถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการที่ได้มอบหมายหรือมีคำสั่งหรือจ้างวานใช้ให้จำเลยที่ 1 ขับรถโดยสารคันเกิดเหตุ เพื่อให้สมประโยชน์ในกิจการของจำเลยที่ 2 และโรงเรียน ส. จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในผลละเมิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วย
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 24
  • พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 25
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427

ผู้พิพากษา

รังสรรค์ ดวงพัตรา
วีรา ไวยหงษ์ รินทร์ศรี
ชลิศร์ สวัสดิทัต

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android