คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7586/2555

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 7 ก.ค. 2559 14:47:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 คำว่า "โปรแกรมคอมพิวเตอร์" หมายความว่า คำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใดที่นำไปใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงาน หรือเพื่อให้ได้ผลอย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในลักษณะใด และตามมาตรา 30 การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้แก่โปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งได้แก่ การทำซ้ำหรือดัดแปลง การเผยแพร่ต่อสาธารณชน การให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานดังกล่าว ดังนี้ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องทั้งสองสำนวนว่า โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์แต่เพียงผู้เดียวโดยใช้ชื่อผลงานในเว็บไซต์ว่า "ไทยเพอร์ซันแนลคอนเน็กชันส์ (Thai Personal Connections)" และได้จดทะเบียนลิขสิทธิ์ (ที่ถูก แจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์) ประเภทงานวรรณกรรม ซึ่งมีลักษณะเป็นงานสิ่งเขียนไว้ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์มีชื่อเว็บไซต์ว่า "Thai Personal Connections" ที่มีข้อมูลของโจทก์อันเกี่ยวกับการซื้อขายบ้าน ที่ดิน สื่อการนัดพบชาวต่างชาติ บริการรับทำวีซ่า รับจัดพิธีสมรส การให้บริการแปลภาษา บริการเช่ารถยนต์ และธุรกิจเกี่ยวกับผ้าไหมไทย รายละเอียดปรากฏตามสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เอกสารท้ายฟ้องนั้น เมื่อพิจารณาตามเอกสารท้ายฟ้องซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่แสดงข้อมูลของโจทก์ซึ่งปรากฏอยู่บนเว็บเพจในเว็บไซต์ที่อ้างว่าเป็นของโจทก์และข้อมูลที่โจทก์อ้างว่าทำซ้ำ ดัดแปลง และเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งข้อมูลของโจทก์ที่ปรากฏอยู่บนเว็บเพจในเว็บไซต์โดยโจทก์อ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นภาษาอังกฤษอันเกี่ยวกับการซื้อขายบ้าน ที่ดิน สื่อการนัดพบชาวต่างชาติ บริการรับทำวีซ่า รับจัดพิธีสมรส การให้บริการแปลภาษา บริการเช่ารถยนต์ และธุรกิจเกี่ยวกับผ้าไหมไทย ซึ่งมิใช่ภาษาคอมพิวเตอร์ที่เป็นภาษาเครื่อง (machine language) โดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เขียนด้วยภาษาเครื่องเรียกว่า "object program" หรือเป็นภาษาระดับสูง (high level language หรือ source language) โดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เขียนด้วยภาษาระดับสูงเรียกว่า "Source program" ดังนั้น ข้อมูลของโจทก์ดังกล่าวจึงมิใช่คำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใดที่นำไปใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ซึ่งเขียนเป็นภาษาเครื่อง หรือภาษาระดับสูงดังกล่าว เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานหรือเพื่อให้ได้รับผลอย่างหนึ่งอย่างใด แต่ข้อมูลของโจทก์ดังกล่าวเป็นเพียงผลลัพธ์ที่ได้จากการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วแสดงผลลัพธ์นั้นบนจอภาพของเครื่องคอมพิวเตอร์เท่านั้น ประกอบกับตามหนังสือรับรองการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์เอกสารท้ายฟ้อง โจทก์แจ้งต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาว่า ผลงานของโจทก์ชื่อ "Thai Personal Connections" เป็นสิ่งเขียนอันเป็นงานวรรณกรรม มิได้แจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ว่างานดังกล่าวเป็นชุดคำสั่งที่นำไปใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานอันเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งเขียนด้วยภาษาเครื่องหรือภาษาระดับสูงแต่อย่างใด แสดงว่าโจทก์มิได้เป็นผู้สร้างสรรค์โปรแกรมคอมพิวเตอร์อันจะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ดังนี้ ตามคำฟ้องทั้งสองสำนวนดังกล่าวที่โจทก์หาว่าจำเลยทั้งสามละเมิดลิขสิทธิ์ในข้อมูลของโจทก์อันเกี่ยวกับการซื้อขายบ้าน ที่ดิน สื่อการนัดพบชาวต่างชาติ บริการรับทำวีซ่า รับจัดพิธีสมรส การให้บริการแปลภาษา บริการเช่ารถยนต์ และธุรกิจเกี่ยวกับผ้าไหมไทยในเว็บไซต์ ซึ่งปรากฏบนจอภาพของเครื่องคอมพิวเตอร์ด้วยการคัดลอกข้อมูลดังกล่าวลงในเว็บไซต์ที่มีชื่อว่า เดอะ ไทย เพอร์ซันแนล ทัช (The Thai Personal Touch) ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพื่อขายแก่ลูกค้าของจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้น จึงไม่มีมูลอันจะเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 30 (1) และมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) ดังที่โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องได้
ส่วนที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองสำนวนตาม ป.อ. มาตรา 271 และ 272 นั้น โจทก์ระบุเพียงบทกฎหมายที่ขอให้ลงโทษเท่านั้น แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองสำนวนขายของสิ่งใดโดยหลอกลวงอย่างไรให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิดใด สภาพ คุณภาพของสิ่งของนั้นว่าเป็นอย่างไร หรือปริมาณของสิ่งของนั้นมีจำนวนเท่าใด อันเป็นความเท็จและความจริงเป็นอย่างไรอันจะมีมูลเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 271 ทั้งไม่ได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองสำนวนเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความใดในการประกอบการค้าของโจทก์มาใช้เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของโจทก์อันจะมีมูลเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) จึงเป็นการที่โจทก์ทั้งสองสำนวนมิได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยทั้งสองสำนวนกระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 271 และ 272 (1) ได้ดี การบรรยายฟ้องของโจทก์ทั้งสองสำนวนดังกล่าวย่อมไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 30
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158

ผู้พิพากษา

ปริญญา ดีผดุง
อร่าม เสนามนตรี
สรรทัศน์ เอี่ยมวรชัย

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android