คำพิพากษาย่อสั้น
คดีนี้เป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องเพียงเดือนละ 1,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์และฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสองและมาตรา 248 วรรคสอง การวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 และศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามศาลชั้นต้น เมื่อศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่เคยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ฟังข้อเท็จจริงใหม่ว่า โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอยู่ก่อนจึงมีสิทธิดีกว่าจำเลย แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง โดยไม่มีการรับรองหรืออนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ทั้งไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงผิดต่อกฎหมาย การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 9 จึงไม่ชอบ ขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสองและมาตรา 243 (3) (ก) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247
เมื่อข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า โจทก์ไม่เคยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่โจทก์มีสิทธิการเช่า เพราะจำเลยครอบครองอยู่ก่อนแล้ว โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยไม่ได้เพราะไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน การที่จำเลยจอดรถในที่ดินพิพาทโดยไม่ปรากฏว่าได้รับอนุญาตจากการรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จึงเป็นการละเมิดต่อการรถไฟแห่งประเทศไทย หาใช่ละเมิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ชอบที่จะฟ้องขับไล่และขอให้ศาลเรียกการรถไฟแห่งประเทศไทยเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมซึ่งจะมีผลทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง