คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15186/2557

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 8 เม.ย. 2559 11:03:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
สัญญาจ้างลูกจ้างชั่วคราวระบุว่า ป. กรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดเข้าทำงานในโครงการก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือที่จำเลยที่ 1 รับจ้างเหมาจากจำเลยที่ 2 แม้สัญญาจ้างลูกจ้างชั่วคราวจะไม่ได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 แต่กฎหมายมิได้บังคับให้สัญญาจ้างแรงงานต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ เมื่อมีการเข้าทำงานก่อสร้างในโครงการดังกล่าวบางส่วนและจำเลยที่ 1 มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าจ้างในส่วนของงานที่ก่อสร้างไปแล้ว หากโจทก์ทั้งเจ็ดเข้าทำงานในส่วนดังกล่าว ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 เข้ารับเอาผลงานที่โจทก์ทั้งเจ็ดเข้าทำงาน พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าการทำสัญญาจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดของ ป. เป็นการทำไปในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 797 จำเลยที่ 1 ย่อมเป็นผู้ซึ่งตกลงรับโจทก์ทั้งเจ็ดเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้อันเป็นนายจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดตามมาตรา 70 และตามมาตรา 12 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ในกรณีที่นายจ้างเป็นผู้รับเหมาช่วงให้ผู้รับเหมาช่วงถัดขึ้นไปหากมีตลอดสายจนถึงผู้รับเหมาชั้นต้นร่วมรับผิดกับผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างในค่าจ้าง เมื่อจำเลยที่ 2 ตกลงรับจ้างก่อสร้างในโครงการก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลเทพกระษัตรีผู้ว่าจ้าง จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้ซึ่งตกลงรับจะดำเนินงานทั้งหมดหรือแต่บางส่วนของงานก่อสร้างดังกล่าวจนสำเร็จประโยชน์ของผู้ว่าจ้าง และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ซึ่งทำสัญญาจ้างเหมาค่าแรงงานพร้อมแบบหล่อคอนกรีตกับจำเลยที่ 2 โดยรับจะดำเนินงานแต่บางส่วนของงานดังกล่าวอันเป็นงานในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 2 เพื่อประโยชน์แก่ผู้ว่าจ้าง จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้รับเหมาชั้นต้นและจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเหมาช่วงตามบทนิยามในมาตรา 5 ดังนั้น หากโจทก์ทั้งเจ็ดเข้าทำงานแล้วจำเลยที่ 1 ไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ด จำเลยที่ 2 ก็ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในเงินค่าจ้างที่ค้างจ่ายด้วยตามมาตรา 12 วรรคหนึ่ง และมีสิทธิไล่เบี้ยเงินค่าจ้างที่จ่ายให้โจทก์ทั้งเจ็ดคืนจากจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 12 วรรคสอง
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 797
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 70
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 12
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5

ผู้พิพากษา

อนันต์ ชุมวิสูตร
นิยุต สุภัทรพาหิรผล
ปดารณี ลัดพลี

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android