คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18122/2557

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 19 ส.ค. 2559 21:43:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
อายุความฟ้องคดีเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 แบ่งเป็นอายุความฟ้องคดีแพ่งตามมาตรา 63 และอายุความฟ้องคดีอาญาตามมาตรา 66 โดยอายุความคดีอาญาต้องนำ ป.อ. มาตรา 95 มาใช้บังคับ เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมบรรยายฟ้องซึ่งต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท อายุความในคดีนี้จึงเป็นอายุความฟ้องคดีอาญาสำหรับความผิดต้องระวางโทษอย่างอื่นซึ่งไม่ใช่โทษจำคุก ตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) อันมีอายุความหนึ่งปีนับแต่วันกระทำความผิด เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมบรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดระหว่างวันที่ 15 ธันวาคม 2552 ถึงวันที่ 22 ธันวาคม 2552 แต่ฟ้องและได้ตัวจำเลยทั้งสามมายังศาลในวันที่ 17 ธันวาคม 2555 ฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคหนึ่งจึงขาดอายุความแล้ว ทั้งหากเทียบเคียงกับกฎหมายลิขสิทธิ์ก่อนหน้านั้นจะเห็นได้ว่ากฎหมายลิขสิทธิ์ของไทยบัญญัติแยกอายุความคดีแพ่งและคดีอาญาจากกันตลอดมา โดยปัจจุบัน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 กำหนดอายุความคดีแพ่งไว้ในมาตรา 63 ส่วนมาตรา 66 มิได้กำหนดอายุความคดีอาญาไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา ภาค 1 หมวด 9 ว่าด้วยอายุความมาใช้กับความผิดในคดีนี้ ฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมจึงขาดอายุความและสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 66
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 63
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39

ผู้พิพากษา

ปริญญา ดีผดุง
นวลน้อย ผลทวี
ธัชพันธ์ ประพุทธนิติสาร

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android