คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14541/2557

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 17 มี.ค. 2560 16:15:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
คำฟ้องบรรยายว่านับแต่เริ่มทำงานเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2553 จนครบ 1 ปี จำเลยไม่จัดให้โจทก์แต่ละคนหยุดพักผ่อนประจำปีโดยให้ทำงานแทน จึงขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีนั้น พอถือได้ว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีซึ่งเกิดมีขึ้นในปี 2554 รวมมาด้วย ซึ่งจำเลยมีหน้าที่จ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์แต่ละคนที่เป็นลูกจ้างรายวันแม้ไม่มีการเลิกจ้างแต่เป็นการลาออก ในอัตราไม่น้อยกว่า 2 เท่า ของอัตราค่าจ้างในวันทำงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 62 และมาตรา 64 แต่จำเลยจ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้โจทก์แต่ละคนเท่ากับอัตราค่าจ้างรายวัน จึงต้องจ่ายส่วนที่ขาดให้แก่โจทก์แต่ละคน
นายจ้างไม่มีสิทธิหักค่าจ้างของลูกจ้างเพราะเหตุขาดงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง จำเลยต้องคืนค่าจ้างที่หักไว้แก่โจทก์แต่ละคน ส่วนดอกเบี้ยของค่าจ้างที่หักไว้นั้นเมื่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งโจทก์แต่ละคนมีคำขอท้ายคำฟ้องเรียกดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง แม้ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง และคู่ความไม่อุทธรณ์ แต่เพื่อความเป็นธรรมศาลฎีกาเห็นสมควรให้จำเลยเสียดอกเบี้ยของค่าจ้างที่หักไว้ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52
เมื่อนายจ้างมีหน้าที่จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง ณ สถานที่ทำงานของลูกจ้าง ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 55 การที่จำเลยหักค่าจ้างบางส่วนของโจทก์แต่ละคนไว้ทุกเดือนแล้วนำไปชำระค่าธรรมเนียมแก่ธนาคารในการโอนค่าจ้างเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์แต่ละคน จึงไม่ใช่หนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการอันเป็นประโยชน์แก่เป็นลูกจ้างแต่ฝ่ายเดียวตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง (3) จำเลยต้องคืนค่าจ้างที่หักไว้พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แก่โจทก์แต่ละคน
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 30
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 62
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 64
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 55
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52

ผู้พิพากษา

อนันต์ ชุมวิสูตร
นิยุต สุภัทรพาหิรผล
สมจิตร์ ทองศรี

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android