คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10266/2557

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 21 พ.ย. 2559 14:54:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ผู้ร้องซื้อที่ดินเพื่อสร้างอาคารชุดแต่มีปัญหาเกี่ยวกับข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครว่าการก่อสร้างอาคารต้องเว้นระยะถอยร่นจากถนนที่ติดที่ดินโครงการของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงหลีกเลี่ยงโดยวิธีแบ่งแยกที่ดินส่วนที่ติดถนนเป็น 9 แปลง ขายให้บุคคลภายนอก 3 แปลง ส่วนอีก 6 แปลง ให้ ส. ถือกรรมสิทธิ์แทนผู้ร้อง แล้วโอนให้การไฟฟ้านครหลวง 3 แปลง โดยไม่มีค่าตอบแทน เพื่อเป็นที่ตั้งสถานีไฟฟ้าย่อยสำหรับจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่โครงการของผู้ร้อง โดยใต้ถุนอาคารของสถานีไฟฟ้าย่อยยังจดทะเบียนเป็นทางภาระจำยอมแก่โครงการของผู้ร้อง มีการใช้ที่ดินพิพาท 2 แปลง ทำเป็นทางเข้าออกโครงการ และใช้ที่ดินพิพาทอีก 1 แปลง เป็นระยะร่นจากแนวรั้วโรงพยาบาลอันเป็นที่ดินข้างเคียงโครงการ ซึ่งล้วนเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่โครงการของผู้ร้องทั้งสิ้น เมื่อ ส. โอนที่ดินพิพาทขายให้แก่จำเลยที่ 3 แล้ว ก็ปรากฏว่า มีการแจ้งการปลอดจำนองและการค้ำประกันให้หลุดพ้นจากความผูกพันในหนี้ของผู้ร้อง จำเลยที่ 3 ก็ยังได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาททั้งสามแปลงเป็นประกันหนี้ของผู้ร้องเช่นเดิม ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท 3 แปลง แทนผู้ร้อง แต่เมื่อผู้ร้องยอมให้จำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนของผู้ร้องทำการออกนอกหน้านำที่ดินพิพาททั้งสามแปลงไปทำประโยชน์ในการดำเนินกิจการโครงการของผู้ร้อง ผู้ร้องซึ่งอยู่ในฐานะตัวการที่ไม่ได้เปิดเผยชื่อ จึงหาอาจทำให้เสื่อมเสียแก่สิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่มีต่อจำเลยที่ 3 ผู้เป็นตัวแทน และโจทก์ขวนขวายได้มาแต่ก่อนที่จะรู้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 806 ดังนี้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอให้ปล่อยที่ดินพิพาททั้งสามแปลงที่โจทก์นำยึดได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 806

ผู้พิพากษา

นุจรินทร์ จันทร์พรายศรี
สมยศ เข็มทอง
ปกรณ์ มหรรณพ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android