คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13307/2557

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 23 ก.พ. 2559 08:30:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
การกล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติไปจากบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นเมื่อเข้ารับตำแหน่ง หรือร่ำรวยผิดปกติซึ่งรวมถึงการได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควรสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ซึ่งให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งเรื่องให้ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้สั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 75, 80 และมาตรา 81 นั้น ต่างจากหนี้ที่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องแก่เจ้าหนี้ในการที่จะบังคับให้ลูกหนี้กระทำการหรืองดเว้นการอันใดอันหนึ่งเพื่อชำระหนี้ตามมูลแห่งหนี้ที่สามารถบังคับกันได้ตามกฎหมายดังเช่นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยเฉพาะการที่ผู้ร้องขอให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านตกเป็นของแผ่นดินตามคำร้อง แม้เป็นการบังคับเอาจากทรัพย์สินซึ่งอาจเป็นผลให้ผู้คัดค้านต้องสูญเสียทรัพย์สินหากพิสูจน์ได้ว่ามีการได้ซึ่งทรัพย์สินโดยมิชอบตามเงื่อนไขที่กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนด ก็เป็นผลจากการได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยทุจริตหรือประพฤติมิชอบด้วยหน้าที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนมีความมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ประพฤติทุจริตไม่อาจยึดถือทรัพย์สินไว้ได้ต่อไปอันเป็นผลทางกฎหมายที่มิได้ก่อขึ้นจากหนี้อันเป็นมูลเหตุแห่งสิทธิเรียกร้องที่ผู้คัดค้านสามารถยกอายุความขึ้นต่อสู้ และอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มาตรา 75 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติให้ต้องกล่าวหากรณีร่ำรวยผิดปกติภายในสองปีนับแต่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ และมาตรา 83 ได้บัญญัติให้บังคับคดีแก่ทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาภายในสิบปี เป็นบทบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการแจ้งข้อกล่าวหาเพื่อเร่งรัดให้มีการไต่สวนข้อเท็จจริงอันเป็นมูลเหตุตามข้อกล่าวหา ทำนองเดียวกับมาตรา 81 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลภายในเก้าสิบวันนับแต่ได้รับเรื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นการกำหนดหน้าที่เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย หาใช่การใช้สิทธิเรียกร้องที่ต้องกระทำภายในกำหนดอายุความและเพียงการที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มาตรา 80 บัญญัติว่า ให้นำ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับแก่กรณีตาม (2) (3) (4) โดยอนุโลมก็เป็นการกำหนดถึงการดำเนินกระบวนพิจารณาซึ่งไม่ใช่เหตุผลที่ต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความตาม ป.พ.พ. มาใช้บังคับแก่คดีนี้ด้วยแต่ประการใด
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2552 มาตรา 75
  • พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2552 มาตรา 80
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
  • พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2552 มาตรา 83
  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 83
  • พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2552 มาตรา 81

ผู้พิพากษา

เกษม เกษมปัญญา
ไมตรี สุเทพากุล
กิจชัย จิตธารารักษ์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android