คำพิพากษาย่อสั้น
แม้โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย และที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสของโจทก์กับจำเลยที่ 1 แต่การที่จำเลยที่ 1 แจ้งจำเลยที่ 2 ผู้ซื้อฝากที่ดินพิพาทและเจ้าพนักงานที่ดินว่า จำเลยที่ 1 แยกกันอยู่กับโจทก์ ไม่สามารถตามโจทก์มาลงลายมือชื่อให้ความยินยอมได้ ทั้งอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 เจือสมกับที่โจทก์เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 2 ว่า ได้แยกกันอยู่กับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ปี 2553 ดังนั้น การที่ปรากฏจากการจดทะเบียนว่าหลังจากจำเลยที่ 1 ได้ที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมแต่เพียงผู้เดียวมาหลายครั้ง โดยโจทก์ไม่เคยให้ความยินยอมย่อมทำให้มีเหตุให้จำเลยที่ 2 เชื่อโดยสุจริตว่าสามารถทำนิติกรรมได้ จึงไม่ถือว่าจำเลยที่ 2 มีความประมาทแต่อย่างใด เมื่อจำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมขายฝากกับจำเลยที่ 1 โดยสุจริตในราคา 265,000 บาท ต่อมาเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่สามารถไถ่ถอนได้ก็มีการเพิ่มราคาให้เป็น 300,000 บาท ถือว่าเป็นราคาที่สมควรเพราะโจทก์อ้างในคำขอท้ายคำฟ้องว่า หากโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนโจทก์ไม่ได้ให้ใช้ราคา 230,672 บาท แก่โจทก์ จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 รับซื้อฝากโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน เมื่อจำเลยที่ 2 นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไปขายให้แก่จำเลยร่วมทั้งสองจึงถือว่าจำเลยร่วมทั้งสองได้รับความคุ้มครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคแรก ตอนท้าย โจทก์ไม่สามารถฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมได้
การฟ้องคดีของโจทก์เป็นการฟ้องเพิกถอนนิติกรรม เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเพิกถอนนิติกรรมและจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ยังคงสมรสกันกรณียังไม่อาจแบ่งสินสมรสหรือให้ชดใช้ราคาแทนตามคำขอของโจทก์ได้