คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16559/2557

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 28 มี.ค. 2559 11:23:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
เมื่อเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้า ของจำเลยที่ 3 กับเครื่องหมายการค้า และ ของโจทก์ แม้รูปคชหงส์จะเป็นรูปลายไทยมีรายละเอียดแตกต่างกับรูปไก่ชน แต่ลักษณะจัดวางรูปคชหงส์และรูปไก่ชนให้ยืนหันหน้าเข้าหากันโดยมีตัวอักษรโรมันอยู่ด้านบนเหมือนกัน ทำให้ภาพรวมของเครื่องหมายการค้าคล้ายกัน ประกอบกับตัวอักษรโรมันด้านบนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เรียกขานได้ว่า ลำปำ จันทรา และลำปำ ตามลำดับ ส่วนตัวอักษรโรมันประดิษฐ์ด้านบนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 แม้ตามสำเนาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระบุว่า อ่านไม่ได้ แปลไม่ได้ แต่ก็เห็นได้ว่าเป็นตัวอักษรโรมันที่ประดิษฐ์จากคำว่า LAMPAM ซึ่งเรียกขานได้ว่า ลำปำ เหมือนกัน เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 จึงคล้ายกับของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายมีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 จึงต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนสำหรับสินค้าทุกจำพวก
แม้จำเลยที่ 3 ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเจตนาเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แต่รูปคชหงส์เป็นรูปของสัตว์ซึ่งไม่มีอยู่จริง โดยจำเลยที่ 3 อ้างว่านำลักษณะเด่นของหงส์ ช้าง และสิงโต มารวมกันแล้วเขียนขึ้นใหม่ในลักษณะรูปลายไทย รูปคชหงส์จึงเป็นรูปที่จำเลยที่ 3 สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ให้มีความแตกต่างกับรูปไก่ชน ไม่ได้เกิดจากการนำรูปไก่ชนมาดัดแปลง ลำพังการจัดองค์ประกอบของรูปให้มีคชหงส์สองตัวหันหน้าเข้าหากันซึ่งบุคคลทั่วไปก็สามารถทำได้ไม่ใช่การทำซ้ำ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 ทำหรือก่อให้เกิดงานโดยได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์ จึงไม่ได้ละเมิดลิขสิทธิ์งานศิลปกรรมรูปไก่ชนสองตัวหันหน้าหากันของโจทก์
แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แต่การที่จำเลยที่ 3 สร้างสรรค์รูปคชหงส์แล้วนำไปยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และจำเลยทั้งสามจำหน่ายสินค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียน ทั้งการโฆษณาก็ระบุเครื่องหมายการค้าพร้อมที่มาของการออกแบบรูปคชหงส์เป็นเครื่องหมายการค้าใหม่ จำเลยทั้งสามไม่มีเจตนาลวงขายสินค้า ไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์
การสั่งให้คู่ความฝ่ายใดรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมจำนวนมากน้อยเพียงใดนั้น เป็นดุลพินิจของศาล การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามโดยไม่ได้ฟ้องผู้ละเมิดเครื่องหมายการค้าของโจทก์รายอื่นด้วยไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
ที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยทั้งสามยุติการจำหน่ายสินค้าที่ใช้ภาคส่วนอักษรโรมันคำว่า LAMPAM รูป รอยประดิษฐ์ และเครื่องหมายการค้าหงส์คู่ หรือเครื่องหมายการค้าอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ซึ่งเป็นเครื่องหมายมีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ศาลย่อมมีอำนาจบังคับให้ตามคำขอ
ที่โจทก์อุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสามยุติการใช้และผลิตสินค้าที่ใช้ภาคส่วนอักษรโรมัน คำว่า LAMPAM รูป รอยประดิษฐ์ และเครื่องหมายการค้าหงส์คู่ หรือเครื่องหมายการค้าอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายนั้น เมื่อพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 แล้ว จำเลยทั้งสามย่อมไม่มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้านั้นอีกต่อไป คำขอดังกล่าวมุ่งบังคับการกระทำในอนาคตซึ่งครอบคลุมถึงการกระทำของจำเลยทั้งสามที่เกินไปกว่าที่ปรากฏในคดีนี้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยกคำขอของโจทก์ส่วนนี้ชอบแล้ว
ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยจำเลยที่ 3 ไม่ต้องขอถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น ไม่ถูกต้อง เมื่อการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นการโต้แย้งสิทธิต่อโจทก์ จึงชอบที่จะบังคับให้จำเลยที่ 3 ถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า หากจำเลยที่ 3 ไม่ปฏิบัติก็ชอบที่จะใช้คำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 8
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 15
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 44
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161

ผู้พิพากษา

สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
นวลน้อย ผลทวี
ไมตรี สุเทพากุล

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android