คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15248/2557

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 25 ก.ค. 2559 14:35:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
จำเลยเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยของโจทก์ ซึ่งพนักงานมหาวิทยาลัยดังกล่าวคือ พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาตามความในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดคำนิยามของ "พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา" ว่า หมายถึง บุคคลซึ่งได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้ทำงานในสถาบันอุดมศึกษา โดยได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหรือเงินรายได้ของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งความหมายของ "พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา" ตามกฎหมายฉบับนี้แตกต่างจากความหมายของ "ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา" ตามกฎหมายฉบับเดียวกัน กล่าวคือ "ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา" หมายถึง บุคคลซึ่งได้รับบรรจุและแต่งตั้งให้รับราชการตาม พ.ร.บ.นี้ โดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา หากเปรียบเทียบข้อแตกต่างสำคัญแล้ว จะเห็นได้ชัดว่า "ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา" เป็นบุคคลที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการ โดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา จึงมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ส่วน "พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา" เป็นบุคคลที่ได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้เป็นพนักงาน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นข้าราชการ อีกทั้งค่าจ้างหรือค่าตอบแทนพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาก็มิใช่เงินเดือนอันมีที่มาจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา แม้ พ.ร.บ.ฉบับนี้จะระบุว่า พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาความหมายของพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุนตามข้อ 4 แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิแล้ว ล้วนได้ความตรงกันว่าพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสองประเภทได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปหรือเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย เมื่อจำเลยเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งมิใช่ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาและไม่ได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา ประกอบกับไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับใดกำหนดให้พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาเป็นเจ้าพนักงาน จำเลยจึงไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. และศาลไม่อาจลงโทษจำเลยในฐานะเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147, 157 และ 161 ได้
จำเลยมีหน้าที่รับผิดชอบในงานเบิก - จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ตรวจสอบเอกสารเงินยืม ติดตามเงินยืมและตัดยอดเงินยืม ดังนั้น แม้จำเลยจะจัดทำเอกสารเกี่ยวกับงานการเงินในหน้าที่รับผิดชอบของจำเลยไม่ตรงกับความเป็นจริงและใช้หรืออ้างเอกสารดังกล่าวเสนอต่อผู้บังคับบัญชา ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 264 ฐานปลอมเอกสาร มาตรา 268 ฐานใช้เอกสารปลอม และมาตรา 137 ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน เพราะจำเลยเป็นผู้บันทึกข้อความลงในเอกสารต่าง ๆ ด้วยตนเอง โดยจำเลยมิได้เป็นผู้แจ้งข้อความดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานอื่นแต่อย่างใด
เงินตามเช็คเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินของโจทก์ที่ ธ. ในฐานะเลขานุการโครงการต้นกล้าอาชีพทำหนังสือขอให้โจทก์อนุมัติเพื่อนำไปชำระเงินยืมที่โครงการยืมเงินกลางของโจทก์มาใช้จ่าย เงินจำนวนนี้จึงมิใช่เงินส่วนตัวของ ธ. ทั้ง ธ. ก็ไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ของโจทก์ซึ่งโจทก์จะต้องชำระหนี้ให้แก่ ธ. การที่ ธ. มีชื่อเป็นผู้รับเงินตามเช็ค จึงเป็นกรณีที่ ธ. ได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้มีหน้าที่รับเงินตามเช็คแล้วนำไปชำระเงินยืมให้แก่โจทก์ เมื่อเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินของโจทก์ที่ถูกจำเลยเบียดบังไป โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้
แม้โจทก์จะฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังทรัพย์ของโจทก์ตาม ป.อ. มาตรา 147 แต่เมื่อทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยเบียดบังทรัพย์ของโจทก์ไปในฐานะบุคคลธรรมดาซึ่งโจทก์ได้บรรยายฟ้องกล่าวถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 ไว้แล้ว ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และ 225
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 215
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225
  • ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร มาตรา 4
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137

ผู้พิพากษา

ภานุวัฒน์ ศุภะพันธุ์
สมยศ เข็มทอง
สมศักดิ์ คุณเลิศกิจ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android