คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10338/2557

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 16 มิ.ย. 2559 10:31:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ในคดีอาญาเดิม พนักงานอัยการโจทก์ไม่สามารถติดตามตัว จ. ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นประจักษ์พยานมาเบิกความเป็นพยานต่อศาลได้ จึงจำเป็นต้องส่งบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของ จ. บันทึกการชี้ตัวผู้ต้องหาทั้งสองและบันทึกการชี้ภาพถ่ายผู้ต้องหาทั้งสองซึ่งจำเลยทำหน้าที่เป็นล่ามแปลภาษาให้ จ. และพิมพ์ลายนิ้วมือในคำแปลไว้ กับจำเป็นต้องส่งบันทึกการสอบปากคำจำเลยในฐานะผู้ทำหน้าที่ล่ามแปลภาษาให้ จ. ฟัง เป็นพยานหลักฐานต่อศาล และเพื่อให้พยานดังกล่าวมีคุณค่าในการรับฟังจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำตัวจำเลยมาเบิกความยืนยัน การที่จำเลยเบิกความอันเป็นเท็จโดยเบิกความกลับคำให้การในชั้นสอบสวนเป็นว่า จำเลยพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือลงในเอกสารทุกฉบับโดยที่จำเลยมิได้ทำหน้าที่เป็นล่ามแปลและมิได้สาบานตัวว่าจะทำหน้าที่เป็นล่ามแปลต่อพนักงานสอบสวน ทั้งเบิกความด้วยว่าจำเลยมิได้ทำหน้าที่เป็นล่ามในการชี้ตัวและชี้ภาพถ่ายผู้ต้องหาทั้งสองเลย ความเท็จที่จำเลยเบิกความจึงเป็นข้อสำคัญในคดี เพราะหากศาลเชื่อตามคำเบิกความของจำเลย พยานเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ล่ามแปลของจำเลยดังกล่าว ย่อมเป็นพยานหลักฐานชนิดที่เกิดขึ้นโดยมิชอบที่ศาลจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้เลย เพราะต้องห้ามมิให้โจทก์อ้างเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226
องค์ประกอบความผิดฐานเบิกความเท็จตาม ป.อ. มาตรา 177 วรรคแรก บัญญัติแต่เพียงว่า "ผู้ใดเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล ถ้าความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี..." เท่านั้น แสดงว่าเพียงความเท็จที่ผู้กระทำผิดเบิกความเป็นข้อสำคัญในคดีที่จะพิสูจน์ความจริงได้ก็ครบองค์ประกอบความผิดแล้ว ตามองค์ประกอบความผิดดังกล่าวหาได้ระบุว่าต้องเป็นข้อสำคัญในคดีถึงขนาดที่ศาลจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่ได้แต่อย่างใด
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 13
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177

ผู้พิพากษา

ธานิศ เกศวพิทักษ์
เมทินี ชโลธร
ภาติยะ ดวงมณี

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android