คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9212/2557

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 20 เม.ย. 2559 16:32:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
เมื่อไม่มีเหตุอันสมควรสงสัยว่าหนังสือมอบอำนาจไม่ใช่หนังสือมอบอำนาจอันแท้จริง กรณีจึงไม่ต้องกระทำตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 47 วรรคสาม
นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาซื้อขายแบบ ซีไอเอฟ โจทก์มีหน้าที่จ่ายค่าขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือปลายทางที่กรุงเทพมหานคร และเบี้ยประกันภัย ความเสี่ยงภัยจะตกอยู่แก่จำเลยที่ 1 ผู้ซื้อสินค้าเมื่อสินค้าบรรทุกในเรือของผู้ขนส่งแล้ว ส่วนกรรมสิทธิ์ในรถตักคันพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่ง เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันเป็นอย่างอื่น กรรมสิทธิ์ในรถตักคันพิพาทจึงโอนแก่จำเลยที่ 1 ตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกันแล้ว ดังนั้นก่อนมีการเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 จึงมีกรรมสิทธิ์ในรถตักคันพิพาท และมีสิทธิเรียกให้ผู้ขนส่งส่งมอบรถตักคันพิพาทแก่ตนได้ แต่เมื่อมีการเลิกสัญญาโดยความสมัครใจของโจทก์และจำเลยที่ 1 คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 กล่าวคือ ต้องให้รถตักคันพิพาทกลับไปเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ เมื่อโจทก์ส่งมอบรถตักคันพิพาทให้แก่ผู้ขนส่ง ถือว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาซื้อขายแบบซีไอเอฟครบถ้วนแล้ว และเมื่อพิจารณาใบตราส่งแล้ว จำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นผู้รับตราส่ง เมื่อรถตักคันพิพาทมาถึงประเทศไทย แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ผูกพันตามสัญญาซื้อขายที่ยกเลิกไปแล้ว แต่ก็ต้องดำเนินการเพื่อให้รถตักคันพิพาทกลับไปอยู่ในความครอบครองของโจทก์ดังที่เป็นอยู่เดิม เช่น ส่งรถตักคันพิพาทคืนแก่โจทก์ หรือส่งมอบให้ตัวแทนโจทก์ในประเทศไทย การที่จำเลยที่ 1 เพิกเฉยไม่ดำเนินการใด ๆ ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เพราะตามเอกสารยังปรากฏชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับตราส่งอยู่ โดยเฉพาะการที่จำเลยที่ 1 ปฏิเสธที่จะโอนสิทธิในการรับรถตักคันพิพาทให้บุคคลที่สามตามที่โจทก์เสนอ ถือเป็นการละเลยไม่บำบัดปัดป้องหรือบรรเทาความเสียหายให้แก่โจทก์ ส่วนที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าการที่จำเลยที่ 1 ยอมรับสินค้าที่ไม่ตรงตามที่ระบุในใบกำกับสินค้าหากจำเลยที่ 2 จะเป็นความผิดเกี่ยวกับอัตราพิกัดภาษี และการสำแดงเท็จ หรือการลงลายมือชื่อในหนังสือโอนสิทธิผู้รับจะเป็นการขัดกับรายละเอียดในใบกำกับสินค้านั้น เป็นข้ออ้างที่ไม่มีน้ำหนักและไม่ใช่เหตุผลอันสมควรที่จะปฏิเสธหน้าที่ภายหลังเลิกสัญญา เนื่องจากปรากฏจากคำเบิกความของเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการศุลกากรพยานโจทก์ว่า การขอแก้ไขบัญชีสินค้าสำหรับเรือซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนผู้รับตราส่งนั้น ผู้ที่ยื่นคำร้องคือตัวแทนเรือไม่ใช่เจ้าของสินค้า นอกจากคำร้องขอแก้ไขจากตัวแทนเรือแล้ว ยังต้องยื่นหนังสือโอนสิทธิ และหนังสือรับโอนสิทธิจากผู้รับตราส่งรายใหม่ประกอบด้วย และเมื่อมีการโอนสิทธิแล้ว ผู้มีหน้าที่เสียภาษีศุลกากรคือ ผู้รับตราส่งที่ได้รับโอนสิทธิ ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ผู้ยื่นเรื่องต่อกรมศุลกากรในการเปลี่ยนตัวผู้รับตราส่ง และเมื่อมีการโอนสิทธิแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้ยื่นขอเสียภาษีศุลกากร จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้รับผลกระทบไม่ว่าอัตราภาษีศุลกากรจะเป็นอัตราใด ดังนั้นจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องส่งมอบรถตักคันพิพาทคืนแก่โจทก์ หากไม่สามารถส่งคืนได้ต้องใช้ราคาพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่รถตักพิพาทถูกส่งมาถึงประเทศไทยจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ส่วนที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายกรณีที่จำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการรับสินค้าซึ่งบรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ ณ ท่าเรือปลายทางเพื่อส่งมอบคืนโจทก์ ทำให้โจทก์ต้องรับผิดต่อบริษัท อ. เป็นค่าเช่าตู้คอนเทนเนอร์เกินกำหนดนั้น แม้ไม่มีผู้มารับมอบสินค้าที่ท่าเรือปลายทาง ผู้ขนส่งยังมีหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังและปฏิบัติการให้เหมาะสมในการเก็บรักษา การดูแล ตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2539 มาตรา 10 แต่เนื่องจากผู้ขนส่งเป็นบุคคลภายนอกไม่เกี่ยวข้องกับสัญญาซื้อขาย ไม่อาจทราบเรื่องเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสินค้า ผู้ขนส่งต้องย่อมยึดถือชื่อของผู้รับตราส่งตามใบตราส่งเป็นสำคัญ ดังนั้นกรณีที่ไม่มีผู้รับสินค้าที่ท่าเรือปลายทางเป็นเหตุให้ผู้ขนส่งต้องเสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าเสียเวลาของเรือ (demurrage) ค่าเก็บตู้คอนเทนเนอร์ในท่าเรือ (port storage) เป็นต้น ผู้ขนส่งสามารถเรียกร้องจากผู้รับตราส่งได้ ไม่ใช่หน้าที่ของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ขายสินค้าที่จะเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 โดยตรง นอกจากนี้หากมีการเปลี่ยนตัวผู้รับตราส่ง ผู้รับตราส่งรายใหม่ที่ไปขอรับสินค้าจะเป็นผู้รับผิดชอบชำระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ขนส่ง ซึ่งไม่ใช่โจทก์อีกเช่นกัน
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391
  • พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 10
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26

ผู้พิพากษา

อนันต์ วงษ์ประภารัตน์
นวลน้อย ผลทวี
ไมตรี สุเทพากุล

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android