คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10307/2557

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 8 ก.ย. 2558 09:07:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันพาอาวุธมีดติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร และร่วมกันทำร้ายร่างกายโดยเตะ ต่อย และถีบที่ใบหน้าและลำตัว กับใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหายที่ 2 ที่หัวไหล่ซ้าย ชายโครง และหน้าท้องเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัสโดยไม่ปรากฏว่ามีบุคคลอื่นร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 อีก ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาว่า จำเลยทั้งสองมิได้พาอาวุธมีดติดตัวมา และจำเลยที่ 2 มิได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 หากแต่ได้ร่วมกับพวกที่เหลืออีก 4 ถึง 5 คน โดยพวกคนหนึ่งเป็นผู้ใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันเกี่ยวกับการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด รวมทั้งรายละเอียดของบุคคลที่เกี่ยวข้องที่โจทก์ไม่ได้กล่าวมาในฟ้อง ซึ่งการเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดนั้น ป.อ. มาตรา 83 บัญญัติว่าผู้เป็นตัวการต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ผู้เป็นตัวการแต่ละคนจึงต้องร่วมกันรับผิดในผลที่เกิดขึ้นแม้ตนไม่ได้กระทำเพราะต่างถือเอาการกระทำและเจตนาของกันและกันเป็นของตน ข้อเท็จจริงว่ามีการร่วมกันกระทำความผิดกับบุคคลอื่นนอกเหนือไปจากบุคคลที่โจทก์กล่าวมาในฟ้องจึงเป็นข้อสำคัญ เมื่อโจทก์กล่าวในฟ้องเพียงว่าจำเลยทั้งสองเท่านั้นที่ร่วมกันกระทำความผิดโดยไม่มีบุคคลอื่นอีก ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ มิใช่ข้อแตกต่างที่เป็นเพียงรายละเอียดที่ศาลจะลงโทษจำเลยที่ 2 ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ย่อมลงโทษจำเลยที่ 2 ในฐานะที่เป็นตัวการร่วมกับพวกที่เหลือพาอาวุธมีดติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร และร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสไม่ได้ แต่เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 มาด้วยว่า จำเลยที่ 2 เตะ ต่อย และถีบผู้เสียหายที่ 2 เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 297 ความผิดดังกล่าวย่อมรวมถึงการใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 391 ด้วย ถือได้ว่าความผิดตามฟ้องรวมการกระทำหลายอย่างซึ่งแต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ในการกระทำตามที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192

ผู้พิพากษา

พันวะสา บัวทอง
วีรา ไวยหงษ์ รินทร์ศรี
รังสรรค์ ดวงพัตรา

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android