คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11745/2557

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 22 มี.ค. 2559 11:20:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 1 ว่า บริษัท ฟ. ผู้เสียหายเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเทศญี่ปุ่น และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในฐานะผู้สร้างสรรค์งานศิลปกรรม (ศิลปประยุกต์) ภาพยนตร์การ์ตูนชื่อ โดราเอมอน และบรรยายฟ้องข้อ 2 ว่า เมื่อวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ประเภทงานศิลปกรรม จิตรกรรม ภาพการ์ตูนดังกล่าวของผู้เสียหายโดยนำสินค้าประเภทกระเป๋าสตางค์และกิ๊บติดผมที่มีรูปการ์ตูนดังกล่าวที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซึ่งมีผู้ทำซ้ำและดัดแปลงขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ออกขาย เสนอขาย มีไว้เพื่อขายแก่บุคคลทั่วไป อันเป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้า ดังนี้ ฟ้องโจทก์ดังกล่าวจึงยังเป็นที่สงสัยว่าผู้เสียหายเป็นผู้สร้างสรรค์และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในภาพการ์ตูนดังกล่าวในงานใดแน่ เนื่องจากโจทก์บรรยายฟ้องต่างกันในเรื่องงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย หากผู้เสียหายเป็นผู้สร้างสรรค์ศิลปกรรมประเภทงานศิลปประยุกต์และงานภาพยนตร์การ์ตูนดังกล่าวตามฟ้องข้อ 1 และงานศิลปกรรม จิตรกรรม ภาพการ์ตูนดังกล่าวตามฟ้องข้อ 2 โจทก์ก็ต้องบรรยายด้วยว่า ได้สร้างสรรค์งานเมื่อใด หรือได้มีการนำงานดังกล่าวออกโฆษณาครั้งแรกเมื่อใด เนื่องจากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามที่โจทก์ฟ้องมีกำหนดระยะเวลาในการให้ความคุ้มครองไว้แน่นอนตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 โดยระยะเวลาดังกล่าวอาจจะเริ่มนับตั้งแต่สร้างสรรค์งานหรือนำงานนั้นออกโฆษณาครั้งแรก ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับประเภทของงานที่สร้างสรรค์นั้น ๆ ซึ่งหากงานดังกล่าวตามที่โจทก์ฟ้องหมดอายุการคุ้มครองแล้วจะตกเป็นสาธารณสมบัติซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถนำงานดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าผู้เสียหายได้สร้างสรรค์งานที่อ้างว่าตนเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปประยุกต์ งานภาพยนตร์ หรืองานจิตรกรรมเมื่อใด และนำงานดังกล่าวออกโฆษณาเป็นครั้งแรกตั้งแต่เมื่อใด เพื่อยืนยันว่าขณะเกิดเหตุงานดังกล่าวยังอยู่ในอายุการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 และโจทก์ไม่ได้บรรยายให้ชัดแจ้งว่า ผู้เสียหายเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ประเภทงานศิลปกรรม จิตรกรรมภาพการ์ตูนดังกล่าวที่จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ โดยเพียงบรรยายฟ้องว่า ผู้เสียหายเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ประเภทงานศิลปกรรม (ศิลปประยุกต์) และงานภาพยนตร์การ์ตูนดังกล่าวเท่านั้น ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ขาดข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์โดยการขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31

ผู้พิพากษา

สุพจน์ ธำรงเวียงผึ้ง
นวลน้อย ผลทวี
สุวัฒน์ วรรธนะหทัย

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android