คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1821/2557

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 22 มี.ค. 2559 09:42:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
อำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการที่จะฎีกาในคดีที่ศาลชั้นต้นลงโทษบุคคลใดโดยลำพัง และศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ปล่อยผู้นั้นมีบทบัญญัติไว้ในมาตรา 11 (7) แห่ง พ.ร.บ.พนักงานอัยการ พ.ศ.2498 เพียงมาตราเดียว อีกทั้งตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความก็ไม่มีบทกฎหมายบัญญัติไว้เป็นทำนองว่าเมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฎีกาแล้วจะกลับมาเปลี่ยนแปลงแก้ไขเป็นสั่งฎีกาไม่ได้ ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหากล่าวอ้างในคำแก้ฎีกาต่อไปว่า พนักงานอัยการจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมที่สั่งไม่ฎีกาเป็นสั่งให้ฎีกานั้น จะต้องปรากฏพยานหลักฐานใหม่เพียงพอเห็นได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิด โดยอาศัยเทียบเคียงกับ ป.วิ.อ. มาตรา 147 นั้น เห็นว่า ตามมาตรา 147 แห่ง ป.วิ.อ. เป็นเรื่องผลของการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี ซึ่งห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีก เว้นแต่จะได้มีพยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดีซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้ ซึ่งเป็นหลักการของกฎหมายในชั้นสอบสวน เป็นคนละเรื่องคนละขั้นตอนกับคดีละเมิดอำนาจศาลอันเป็นคดีที่ศาลชั้นต้นลงโทษบุคคลใดโดยลำพัง โดยที่มิได้มีผู้ใดเป็นโจทก์ฟ้องคดี ดังนั้น ถ้าศาลอุทธรณ์พิพากษาปล่อยผู้นั้น พ.ร.บ.พนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11 (7) จึงมอบให้พนักงานอัยการมีอำนาจและหน้าที่พิจารณาว่าจะสมควรฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 147 มาเทียบเคียงกับอำนาจฎีกาของพนักงานอัยการตาม พ.ร.บ.พนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11 (7) กรณีการสั่งไม่ฎีกาแล้วจะกลับมีคำสั่งให้ฎีกา ในฐานะที่เป็นบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง ได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147
  • พระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11

ผู้พิพากษา

ธานิศ เกศวพิทักษ์
เมทินี ชโลธร
ณัฏฐชัย ไวยภาษจีรกุล

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android