คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8917/2557

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 6 พ.ย. 2558 11:18:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทในชั้นชี้สองสถานว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่าง ส. และ จ. หรือไม่ และหากเป็นสินสมรสแล้วโจทก์ทั้งสองและจำเลยมีสิทธิในที่ดินพิพาทเพียงใด ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นสินสมรสและบังคับตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย บทที่ 68 ส่วนแบ่งในสินสมรสว่าต้องแบ่งตามกฎหมายฉบับใดและควรจะเป็นเท่าใดตามกฎหมายเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหานี้ได้
ส. และ จ. อยู่กินเป็นสามีภริยาก่อนปี 2478 จึงเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้ไม่จดทะเบียนสมรสเพราะอยู่กินกันก่อนใช้ ป.พ.พ. บรรพ 5 พ.ศ.2477 ซึ่งตาม พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 4 บัญญัติว่า บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ไม่กระทบกระเทือนถึงบทบัญญัติ มาตรา 4 และมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2477 การแบ่งสินสมรสของ ส. และ จ. จึงต้องแบ่งตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย บทที่ 68 แม้ ส. จะได้ที่ดินพิพาทมาหลังจากใช้ ป.พ.พ. บรรพ 5 แล้ว คือ ส. ได้ 2 ใน 3 ส่วน จ. ได้ 1 ใน 3 ส่วน โดยทรัพย์ส่วนของ จ. เป็นมรดกตกได้แก่ทายาทของ จ. ซึ่งรวมโจทก์ทั้งสองด้วย
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225
  • ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 4
  • กฎหมายลักษณะผัวเมีย บทที่ 68 มาตรา 4
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1533
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1481

ผู้พิพากษา

ฐานันท์ วรรณโกวิท
นพพร โพธิรังสิยากร
ไมตรี ศรีอรุณ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android