คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5167/2557

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 23 ก.พ. 2560 15:17:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
จำเลยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุทัยธานีได้โดยอาศัยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 เมื่อจำเลยออกจากตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา 97 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เนื่องจากกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีบุคคลให้เงินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่จำเลย อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 44 (1) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มีผลให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุทัยธานี เขตเลือกตั้งที่ 1 ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 145 (3) และ (4) มาตรา 147 (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และมาตรา 10 (6) และ (7) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 มีมติโดยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ มีคำวินิจฉัยสั่งการและมีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุทัยธานี เขตเลือกตั้งที่ 1 ใหม่ มีผลให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยในเขตเลือกตั้งดังกล่าวสิ้นสุดลงนับแต่วันที่มีคำสั่งในวันที่ 20 กันยายน 2548 ตามมาตรา 96 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 และตามนัยมาตรา 97 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่ใช้บังคับในขณะนั้น จำเลยย่อมตกอยู่ในบังคับตามมาตรา 97 ตอนท้ายที่บัญญัติว่า กรณีที่การออกจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพราะเหตุที่ผู้นั้นได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ให้คืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ผู้นั้นได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าว แม้ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 จะถูกยกเลิกหรือเป็นอันสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 โดยประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 ก็ตาม แต่มูลหนี้ที่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องตามกฎหมายเกิดขึ้นในขณะที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มีผลใช้บังคับ โดยไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายยกเว้นไว้ และไม่ปรากฏมีบทบัญญัติกฎหมายให้ยกเลิกมูลหนี้ที่เกิดขึ้น ดังนั้น เมื่อจำเลยได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจนเป็นเหตุให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงก่อนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 จะสิ้นสุดลง สิทธิของโจทก์ในการเรียกเงินคืนและหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่จำเลยได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามมาตรา 97 ตอนท้ายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 จะสิ้นสุดลง จึงยังคงมีอยู่โดยหาได้ถูกยกเลิกไปด้วยไม่ เมื่อจำเลยไม่คืนเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ โจทก์จึงถูกโต้แย้งสิทธิตามกฎหมาย และมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดในมูลหนี้ที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 97 ตามฟ้องได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 97
  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 147
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
  • พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 44
  • พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 96
  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 145
  • พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 มาตรา 10

ผู้พิพากษา

เฉลิมชัย ตันตยานนท์
พิศล พิรุณ
พิสิฐ ฐิติภัค

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android