คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6858/2557

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 8 เม.ย. 2559 11:04:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตรา 4, 32, 107 พ.ร.บ.ยา (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2522 ซึ่งมาตรา 4 ที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ยา (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2522 ได้ถูกยกเลิกไปตาม พ.ร.บ.ยา (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2530 นั้น เห็นว่า แม้โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองโดยอ้าง พ.ร.บ.ยา (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2522 ซึ่งถูกยกเลิกและแก้ไขใหม่แล้ว และมิได้อ้าง พ.ร.บ.ยา (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2530 ที่แก้ไขใหม่ แต่คำว่า ขาย ตามมาตรา 4 ซึ่งแก้ไขใหม่ยังคงหมายความรวมถึงมีไว้เพื่อขายและถือเป็นความผิด ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้งสองจึงยังเป็นความผิดตามบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่ การที่โจทก์ยังคงขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ.ยา (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2522 เป็นเพียงการอ้างบทบัญญัติกฎหมายผิดพลาดไปเท่านั้น แม้โจทก์จะไม่อ้างบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ และข้อเท็จจริงฟังว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้อง ศาลก็มีอำนาจลงโทษจำเลยทั้งสองตามบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ที่ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า
การกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตรา 32 จะต้องมีการขายยาแผนปัจจุบันที่เป็นยาอันตรายจริง ๆ หรือไม่ เห็นว่า พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตรา 4 ได้วิเคราะห์ศัพท์คำว่า "ขาย" หมายความว่า ขายปลีก ขายส่ง จำหน่าย จ่าย แจก แลกเปลี่ยนเพื่อประโยชน์ในทางการค้า และให้หมายความรวมถึงการมีไว้เพื่อขายด้วย ฉะนั้น การขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งยาแผนปัจจุบันที่เป็นยาอันตรายในระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ จึงเป็นความผิดอย่างเดียวกัน หาใช่ต้องมีการขายกันจริง
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร มาตรา 4
  • ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร มาตรา 32
  • ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร มาตรา 107
  • พระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2522 มาตรา 4
  • พระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2530 มาตรา 4
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192

ผู้พิพากษา

โสฬส สุวรรณเนตร์
เกษม เกษมปัญญา
อภิรัตน์ ลัดพลี

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android