คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8932/2557

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 10 พ.ย. 2559 18:37:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 183 บัญญัติว่า "คดีที่ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้ฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นไปยังศาลฎีกาได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความเหมือนคดีธรรมดา เว้นแต่กรณีที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตรา 180" นอกจากนี้ มาตรา 6 ยังบัญญัติให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่การพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวกรณีไม่มีบทบัญญัติไว้โดยเฉพาะ ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาคดีส่วนแพ่ง ปัญหาว่าคดีของโจทก์ร่วมต้องห้ามฎีกาหรือไม่จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงเว้นแต่ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลอุทธรณ์ได้มีความเห็นแย้งหรือผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นก็ดี ศาลอุทธรณ์ก็ดีได้รับรองไว้หรือรับรองในเวลาตรวจฎีกาว่า มีเหตุสมควรที่จะฎีกาได้..." การที่โจทก์ร่วมฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายจึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริงและทุนทรัพย์ไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง แต่เมื่อผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงพอแปลได้ว่ารับรองให้โจทก์ร่วมฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นนั่นเอง ฎีกาของโจทก์ร่วมจึงไม่ต้องห้ามฎีกา
ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก บัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ยินยอมเป็นความผิด" แสดงว่า กฎหมายมุ่งคุ้มครองเด็กอายุน้อยเป็นกรณีพิเศษโดยไม่ให้ความสำคัญแก่ความยินยอมของเด็ก ดังนั้น แม้ผู้เสียหายที่ 3 ยินยอมมีเพศสัมพันธ์กับจำเลย การกระทำของจำเลยก็ยังเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมาย จึงยังคงเป็นการละเมิดต่อผู้เสียหายที่ 3 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 โจทก์ร่วมในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เสียหายที่ 3 ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248
  • พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6
  • พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 183

ผู้พิพากษา

วัชรินทร์ ปัจเจกวิญญูสกุล
ทวีศักดิ์ ทองภักดี
พิศิฏฐ์ สุดลาภา

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android