คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20658/2555

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 13 พ.ค. 2559 09:30:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
การที่โจทก์ที่ 921 แก้ไขคำฟ้องโดยจำเลยมิได้ให้การแก้คดีเพิ่มเติม มีผลเพียงว่าจำเลยยอมรับว่ามีมติคณะรัฐมนตรีจริง ส่วนโจทก์ที่ 921 จะมีสิทธิได้รับการปรับอัตราค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของมติคณะรัฐมนตรีนั้นด้วย เมื่อมติคณะรัฐมนตรีในการปรับค่าจ้างในอัตราไม่เกินร้อยละ 5 มีเงื่อนไขว่าเมื่อปรับค่าจ้างแล้วค่าจ้างที่ได้รับต้องไม่เกิน 50,000 บาท ทั้งจะต้องจัดหารายได้เพิ่มเติมและหรือต้องลดค่าใช้จ่ายเพื่อให้เพียงพอรายจ่ายบุคลากรที่เพิ่มขึ้น กรณีจึงยังไม่อาจปรับค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ให้แก่โจทก์ที่ 921 ได้
การที่มีบันทึกข้อตกลงในวันที่ 29 มิถุนายน 2525 ข้อ 17 ที่ระบุว่าการพิจารณาความดีความชอบประจำปีของเจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของคุรุสภาในขณะใด ๆ ให้องค์การค้าของคุรุสภาพิจารณาโดยถือหลักเกณฑ์การพิจารณาตามมติคณะรัฐมนตรีหรือระเบียบของทางราชการที่กำหนดสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจในขณะนั้น ๆ มิใช่หมายความว่าเพียงแต่มีบันทึกข้อตกลงนั้นแล้วจะเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยาย จะต้องปรากฏว่าได้มีการปฏิบัติตามข้อตกลงมาอย่างต่อเนื่องด้วย เมื่อองค์การค้าของคุรุสภาไม่เคยให้เงินตอบแทนความดีความชอบแก่เจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาในลักษณะที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ลูกจ้างและพนักงานรัฐวิสาหกิจผู้ปฏิบัติงานช่วงเกษียณอายุติดต่อกับครบ 15 ปี ได้รับเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน มาก่อน เงินตอบแทนความชอบ จึงไม่เป็นสภาพการจ้างโดยปริยาย
ความเสียหายเป็นดอกเบี้ยสหกรณ์ที่จำเลยจ่ายเงินให้โจทก์ที่ 1191 ล่าช้าเป็นความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 วรรคสอง โจทก์ที่ 1191 ต้องแสดงให้ปรากฏว่าจำเลยได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นล่วงหน้าก่อนแล้วถึงพฤติการณ์ที่โจทก์ที่ 1191 จะได้รับความเสียหาย เมื่อโจทก์ที่ 1191 ไม่ได้แสดงให้ปรากฏว่าจำเลยได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นล่วงหน้าถึงความเสียหายให้เพียงพอ การที่ศาลแรงงานกลางไม่กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้จึงชอบแล้ว
การที่จำเลยปรับอัตราค่าจ้างให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในส่วนงานอื่นของจำเลย แต่ไม่ปรับอัตราค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งหมดซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของจำเลย ทั้งที่ลูกจ้างทั้งสองกลุ่มนี้ต่างก็ทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยด้วยกัน เป็นการปฏิบัติโดยไม่เท่าเทียมกัน ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยปรับอัตราค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งหมดนั้น เป็นการพิจารณาถึงระดับค่าจ้างที่ไม่ได้รับการปรับขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีของโจทก์ทั้งหมดกับระดับค่าจ้างที่ได้รับการปรับขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีของพนักงานเจ้าหน้าที่อื่นที่ไม่ใช่พนักงานเจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของจำเลย อันเป็นการพิจารณาเพื่อกำหนดให้เป็นธรรมแก่คู่ความทั้งสองฝ่ายโดยชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 48 แล้ว
เมื่อสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภากับองค์การค้าของคุรุสภามีการปฏิบัติตามข้อตกลงมาจนกระทั่งมีสภาพเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยายแล้ว หากจำเลยเห็นว่าการปฏิบัติตามข้อตกลงนี้ไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบันของจำเลย จำเลยก็สามารถดำเนินการให้ถูกต้องตามกระบวนการของ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ที่กำหนดไว้สำหรับการยื่นข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง หรือจำเลยตกลงกับลูกจ้างที่เกี่ยวข้องเพื่อเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเดิมได้ หรือลูกจ้างที่เกี่ยวข้องได้ให้ความยินยอมสำหรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยให้จำเลยต้องดำเนินการตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยายที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับปฏิบัติต่อกันมาโดยตลอดนั้นเป็นการตีความตามมุ่งหมายในการทำข้อตกลงของทั้งสองฝ่ายโดยชอบ
โจทก์ทั้งหมดฟ้องขอให้จำเลยปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงโดยปรับอัตราค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีแก่โจทก์ทั้งหมด เป็นการกล่างอ้างว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 12 เมื่อจำเลยยังไม่ได้ปรับเงินเดือนค่าจ้างของโจทก์ทั้งหมดตามมติคณะรัฐมนตรีเงินที่จะได้รับจากการปรับอัตราค่าจ้างตามที่โจทก์ทั้งหมดฟ้องนั้นจึงยังไม่มีสถานะเป็นสินจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 575 และยังไม่มีสถานะเป็นค่าจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 สิทธิเรียกร้องให้จำเลยดำเนินการดังกล่าวจึงมิได้ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (9) แต่เป็นกรณีจำเลยผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ทั้งหมดซึ่งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
เงินที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิที่จะได้รับจากการปรับอัตราค่าจ้างตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยายยังไม่มีสภาพเป็นค่าจ้าง จึงมิใช่ค่าจ้างที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง แต่เป็นหนี้เงินที่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งหมดทวงถามให้จำเลยจ่ายค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจากการปรับอัตราค่าจ้างและเงินบำเหน็จส่วนที่จ่ายไม่ครบเมื่อใด จำเลยจึงต้องชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575
  • พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 12
  • พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 มาตรา 12
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 48

ผู้พิพากษา

วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์
ชัยวัฒน์ เวียงธีรวัฒน์
ชัยรัตน์ เบ็ญจะมโน

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android