คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5046/2557

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 30 มิ.ย. 2558 15:31:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ตามฟ้องข้อ (ข) เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยลงข้อความเท็จในบัญชีและทำบัญชีไม่ถูกต้องกรณีบริษัท ส. ซื้อที่ดินจาก ป. ในราคา 580,500,000 บาท จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของบริษัท ส. จำนวน127,500,000 บาท โดยจำเลยบันทึกในบัญชีของบริษัทว่าได้ชำระเป็นค่าซื้อที่ดินให้แก่ ป. แล้ว อันเป็นความเท็จ ความจริงไม่มีการนำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระค่าซื้อที่ดินโดยโจทก์บรรยายฟ้องให้รายละเอียดชัดแจ้งถึงเส้นทางของเงินจำนวนดังกล่าวว่าได้โอนไปเข้าบัญชีของผู้ใด จำนวนกี่บัญชี บัญชีละเท่าใด และมีการโอนเงินจำนวนดังกล่าวออกจากบัญชีที่รับไว้ไปชำระหนี้ให้แก่ผู้ใดหรือนำเข้าบัญชีของใคร จำนวนเท่าใด และเมื่อไร จึงเป็นการบรรยายฟ้องถึงการกระทำทั้งหลายของจำเลยที่อ้างว่าได้กระทำความผิดให้เข้าใจได้ว่าจำเลยลงข้อความเท็จหรือทำบัญชีไม่ถูกต้องอย่างไร ส่วนการบันทึกบัญชีอันเป็นเท็จจะหมายถึงบัญชีใด อยู่ในเอกสารใด รายละเอียดของข้อความที่ลงไว้อย่างไร แม้ไม่ได้บรรยายไว้ก็ไม่ทำให้ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะเป็นรายละเอียดที่โจทก์นำสืบได้ในชั้นพิจารณา คำฟ้องโจทก์ในข้อ (ข) จึงไม่เคลือบคลุม ส่วนคำฟ้องข้อ (ค) และ (ง) เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยลงข้อความเท็จในบัญชีและทำบัญชีไม่ถูกต้องกรณีบริษัท ป. และบริษัท ฟ. ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดในโครงการจัดสรรของบริษัท ส. โดยโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทำปลอมสัญญาจะซื้อจะขายว่าทั้งสองบริษัทดังกล่าวเป็นคู่สัญญาผู้จะซื้อกับบริษัท ส. ผู้จะขาย และตกแต่งลงข้อความเท็จในบัญชีว่าผู้จะซื้อดังกล่าวได้ผ่อนชำระค่างวดในโครงการดังกล่าวและยังค้างชำระค่างวดแก่บริษัท ส. ซึ่งความจริงบริษัท ป. ไม่เคยเป็นหนี้สินและไม่เคยทำสัญญาจะซื้อห้องชุดในโครงการดังกล่าวกับบริษัท ส. ส่วนบริษัท ฟ. ไม่มีเจตนาแท้จริงจะซื้อห้องชุดกับบริษัท ส. เพราะบริษัทดังกล่าวไม่ได้ประกอบธุรกิจและไม่มีรายได้ที่จะชำระค่างวด ทั้งนี้เพื่อลวงนักลงทุนและผู้ถือหุ้น ประชาชนและคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ให้เข้าใจว่า บริษัท ส. ประสบความสำเร็จในโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ชัดแจ้งแล้วว่า จำเลยลงข้อความเท็จในบัญชีอย่างไร ส่วนข้อความเท็จในบัญชีมีว่าอย่างไร อยู่ส่วนไหนของบัญชีเป็นรายละเอียดที่โจทก์นำสืบได้ในชั้นพิจารณา สำหรับคำฟ้องที่บรรยายว่าจำเลยปลอมสัญญาจะซื้อจะขายหรือปลอมบัญชีเอกสารก็เพียงมีความมุ่งหมายให้เข้าใจว่าเป็นส่วนหนึ่งของการลงข้อความเท็จในบัญชีอันเป็นองค์ประกอบความผิดเท่านั้น หาใช่เป็นคำฟ้องที่ขัดแย้งกันแต่อย่างใด ฟ้องโจทก์ข้อ (ค) (ง) จึงไม่เคลือบคลุม
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172

ผู้พิพากษา

อิสสระ นิ่มละมัย
ประทีป ดุลพินิจธรรมา
ทรงศิลป์ ธรรมรัตน์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android