คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7929/2557

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 8 ธ.ค. 2558 08:08:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
การโต้แย้งคำสั่งระหว่างพิจารณาภายในเวลาที่สมควรนั้น ต้องโต้แย้งภายหลังเมื่อศาลออกคำสั่งแล้ว ตามข้อเท็จจริงผู้ร้องเพียงแต่ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้ก่อนหรือภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ผู้คัดค้านจึงไม่อาจอ้างตนเอง และหรืออ้างบุคคลอื่นเข้ามาเบิกความเป็นพยานได้ อีกทั้งพยานเอกสารที่ได้อ้างประกอบการถามพยานผู้ร้องที่ศาลแพ่งก็ไม่อาจรับฟังได้เช่นกัน และปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 2 ธันวาคม 2553 ว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้คัดค้านยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมได้ อันมีผลเท่ากับให้ถือเอาบัญชีระบุพยานที่นาย ด. เคยยื่นไว้ก่อนถึงแก่ความตายเป็นบัญชีระบุพยานของผู้คัดค้าน และอนุญาตให้ผู้คัดค้านยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมได้ ซึ่งคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา หากผู้ร้องไม่เห็นด้วยก็ต้องโต้แย้งคำสั่งไว้ แต่หลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งระหว่างพิจารณาดังกล่าว จนกระทั่งถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งเป็นวันอ่านคำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นเวลา 2 เดือนเศษ ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นไว้ จึงเป็นเรื่องไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2)
เมื่อพิจารณาพินัยกรรม เอกสารหมาย ร.3 แล้ว ปรากฏว่ามีลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือซ้ายและหัวแม่มือขวา และมีนาย อ. กับดาบตำรวจ ช. เป็นผู้รับรองลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ตายไว้ ซึ่งตามพินัยกรรมระบุข้อความไว้ว่า ผู้ตายได้พิมพ์หัวนิ้วมือซ้ายเป็นสำคัญต่อหน้าพยาน จึงเห็นได้ว่า ลายพิมพ์นิ้วมือขวาของผู้ตายเป็นการพิมพ์ลายนิ้วมือเกินกว่าที่ระบุไว้ในพินัยกรรม แต่ไม่ทำให้พินัยกรรมเสียไปแต่อย่างใด พินัยกรรมดังกล่าวยังมีผลสมบูรณ์
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1665

ผู้พิพากษา

พีรพล พิชยวัฒน์
วีรา ไวยหงษ์ รินทร์ศรี
พันวะสา บัวทอง

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android