คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5583/2557

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 13 มิ.ย. 2560 10:03:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
บทบัญญัติตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 239 และ 240 มีเจตนารมณ์เพื่อจะจัดระเบียบและกำกับดูแลตลาดทุน ตลอดจนป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ อันเป็นมาตรการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม ความผิดทั้งสองฐานนี้จึงเป็นความผิดต่อรัฐ รัฐเท่านั้นที่จะดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิด เอกชนไม่ใช่ผู้เสียหายในการกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเปิดบัญชีเพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ เมื่อผู้เสียหายที่ 1 ไม่อาจเป็นโจทก์ร่วมได้ ก็ไม่มีสิทธิอุทธรณ์และฎีกา จึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ร่วม
จำเลยที่ 1 เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ได้ค่าตอบแทนจากค่าธรรมเนียมในการซื้อขายตามมูลค่าหลักทรัพย์ จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ตำแหน่งเจ้าหน้าที่การตลาดอาวุโส มีหน้าที่ดูแลให้คำแนะนำหรือคำปรึกษาแก่ผู้ลงทุนในการซื้อขายหลักทรัพย์ จำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าหน้าที่การตลาดจึงเป็นผู้ใกล้ชิดกับผู้ลงทุนและใกล้ชิดข้อมูลของหลักทรัพย์ ต้องติดต่อและให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจแก่ผู้ลงทุน คำปรึกษาและคำแนะนำดังกล่าวย่อมมีอิทธิพลต่อผู้ลงทุนที่จะตัดสินใจซื้อขายหรือไม่ซื้อขายหลักทรัพย์ใดในปริมาณเท่าใด ยิ่งผู้ลงทุนตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์มากย่อมทำให้มีมูลค่าการซื้อขายมาก ส่งผลให้จำเลยที่ 1 ได้ค่าตอบแทนมาก การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 จึงมีผลโดยตรงต่อกิจการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงถือเป็นผู้ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินกิจการของบริษัทหลักทรัพย์ตามบทบัญญัติมาตรา 239 การที่จำเลยที่ 2 พูดผ่านเครื่องขยายเสียงในสำนักงานสาขาของจำเลยที่ 1 ว่า ให้ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกซึ่งเป็นลูกค้าของจำเลยที่ 1 ซื้อหุ้นเอฟและหุ้นอาร์เนื่องจาก ส. จะมาไล่ราคาให้สูงขึ้น ส่วนจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้จัดการสำนักงานบริการด้านหลักทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ก็เดินไปเดินมาทักทายแนะนำลูกค้าให้ซื้อหุ้นทั้งสองตัวดังกล่าวในลักษณะสนับสนุนคำพูดของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดฐานแพร่ข่าวเกี่ยวกับข้อเท็จจริงใดๆ อันอาจทำให้บุคคลอื่นเข้าใจว่า หลักทรัพย์ใดจะมีราคาสูงขึ้นหรือลดลง ตามมาตรา 239
การที่บุคคลใดจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 239, 296 จะต้องปรากฏว่าบุคคลนั้นเป็นบริษัทหลักทรัพย์ หรือผู้ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินกิจการของบริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ หรือผู้มีส่วนได้เสียในหลักทรัพย์ และบุคคลนั้นต้องแพร่ข่าวเกี่ยวกับข้อเท็จจริงใด ๆ อันอาจทำให้บุคคลอื่นเข้าใจว่าหลักทรัพย์ใดจะมีราคาสูงขึ้นหรือลดลง และข้อเท็จจริงนั้นต้องมิใช่ข้อเท็จจริงที่ได้แจ้งไว้กับตลาดหลักทรัพย์แล้วด้วย ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายของคำว่า "แพร่ข่าว" ไว้ หมายความว่า "กระจายข่าวออกไป" ซึ่งมีความหมายทำนองว่า เป็นการทำให้บุคคลโดยทั่วไปในวงกว้างที่ต่างๆ ได้ทราบข่าวนั้นในเวลาเดียวกัน การที่จำเลยที่ 2 พูดกับผู้เสียหายที่ 1 ต่อหน้าจำเลยที่ 3 ที่สำนักงานสาขาของจำเลยที่ 1 ว่า วันนี้ให้ซื้อหุ้นเอฟและหุ้นอาร์ เนื่องจาก ส. จะมาไล่ราคาหุ้นทั้งสองตัวนี้ที่สำนักงานใหญ่ของจำเลยที่ 1 ราคาหุ้นก็จะสูงขึ้น แล้วให้เทขายหุ้นทั้งหมดในวันต่อมา โดยมีจำเลยที่ 3 พูดสนับสนุนให้ซื้อ ลักษณะการกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าวมิใช่เป็นการกระจายข่าวออกไป ซึ่งจะทำให้บุคคลโดยทั่วไปในวงกว้างที่ต่างๆ ได้ทราบข่าวในเวลาเดียวกัน อันเป็นความหมายของการแพร่ข่าวที่เป็นองค์ประกอบความผิดในมาตรา 239
การที่จำเลยที่ 2 แพร่ข่าวดังกล่าวอย่างเปิดเผยด้วยเครื่องขยายเสียง โดยมีเจตนาที่จะให้ลูกค้าทุกคนที่อยู่ในสำนักงานสาขาของจำเลยที่ 1 และในงานเลี้ยงที่โรงแรมซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดในวันต่อมา ได้รับฟังการแพร่ข่าวอย่างชัดเจนทั่วถึง โดยมีกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 ไปร่วมงานด้วย ถือว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการกระทำในนามของจำเลยที่ 1 เพราะการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 เป็นการกระทำตามหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ทั้งผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการกระทำของจำเลยที่ 2 ย่อมตกได้แก่จำเลยที่ 1 โดยตรง คดีจึงฟังว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วย
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 239
  • พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 296

ผู้พิพากษา

ถมรัตน์ เลิศไพรวัน
ธีระพงศ์ จิระภาค
ประมวญ รักศิลธรรม

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android