คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11320/2556

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 19 ส.ค. 2559 22:51:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
การที่โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกันโดยทั้งสองฝ่ายต่างรู้อยู่แล้วว่าที่ดินแปลงดังกล่าวมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี แม้สัญญาซื้อขายที่ดินจะกำหนดไปจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองกันในวันพ้นระยะเวลาห้ามโอนก็ตาม ก็เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายจึงตกเป็นโมฆะ การยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 จึงถือว่าเป็นการครอบครองไว้แทนโจทก์ที่ 1
การที่จำเลยที่ 1 กรอกข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ที่ 1 ลงลายมือชื่อมอบอำนาจให้ไว้ขณะที่ยังไม่ได้กรอกข้อความ และจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อปลอมชื่อโจทก์ทั้งสองในการรับรองสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาบัตรข้าราชการของโจทก์ทั้งสองแล้วนำเอกสารดังกล่าวพร้อมกับหนังสือให้ความยินยอมของโจทก์ที่ 2 ในการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ไปดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทตามสัญญาซื้อขายจากชื่อของโจทก์ที่ 1 มาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 นั้นก็เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 ที่ตกลงกันในสัญญาซื้อขายไว้แต่เดิม เป็นกระทำภายในขอบอำนาจที่โจทก์ที่ 1 มอบให้ไว้แต่เดิม และเอกสารที่รับรองก็เป็นเอกสารที่แท้จริง การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็หาทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายแต่อย่างใดไม่ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1402

ผู้พิพากษา

แรงรณ ปริพนธ์พจนพิสุทธิ์
ปดารณี ลัดพลี
พันธุ์เลิศ บุญเลี้ยง

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android