คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 238/2557

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 6 ต.ค. 2558 09:41:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
แม้นิติกรรมไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จะเกิดจากการกระทำโดยผิดกฎหมายของจำเลยที่ 1 ที่ลักเอาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินและโฉนดที่ดินพิพาทไป แล้วปลอมลายมือชื่อพนักงานผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจและหนังสือมอบอำนาจช่วงพร้อมประทับตราสำคัญของโจทก์ลงในหนังสือมอบอำนาจ จากนั้นร่วมกับจำเลยที่ 2 นำเอกสารดังกล่าวไปจดทะเบียนนิติกรรมไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทต่อเจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี อันเป็นการมิชอบและโจทก์ชอบที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมไถ่ถอนจำนองอันมิชอบดังกล่าวได้ก็ตาม แต่การดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากโจทก์เก็บรักษาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินและโฉนดที่ดินพิพาทไม่ดี ทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานสินเชื่อของโจทก์มีโอกาสลักเอาเอกสารดังกล่าวไปจดทะเบียนนิติกรรมไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาท ถือได้ว่าเหตุเกิดเพราะโจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่ออยู่ด้วย และข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 2 จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 3 รับโอนที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน แล้วจำเลยที่ 3 จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่จำเลยที่ 4 โดยจำเลยที่ 4 รับจำนองที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนเช่นกัน ดังนั้น หากศาลพิพากษาว่านิติกรรมไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ตกเป็นโมฆะ และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทแล้วร่วมกันจดทะเบียนให้โจทก์เป็นผู้รับจำนองที่ดินพิพาทลำดับแรกตามเดิม ย่อมมีผลกระทบต่อจำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งอยู่ในฐานะผู้รับโอนและผู้รับจำนองที่ดินพิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนอย่างแน่นอน เนื่องจากผู้รับจำนองคนหลังจะบังคับตามสิทธิของตนให้เสียหายแก่ผู้รับจำนองคนก่อนนั้นหาได้ไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 731 อีกทั้งในชั้นอุทธรณ์โจทก์ยังได้ระบุในอุทธรณ์ของโจทก์โดยแสดงเจตนาให้เห็นว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะขอให้เพิกถอนนิติกรรมยกให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 หรือขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 เพราะโจทก์เห็นว่า จำเลยที่ 2 ยังคงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจึงมีอำนาจที่จะจดทะเบียนยกให้จำเลยที่ 3 ได้ และจำเลยที่ 3 ก็มีอำนาจที่จะนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 4 ได้เช่นกัน จึงเท่ากับว่าโจทก์ยอมรับถึงสิทธิของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในฐานะผู้รับโอนที่ดินพิพาทและผู้รับจำนองที่ดินพิพาทตามลำดับ
โจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่ออยู่ด้วยจึงไม่มีทางที่จะคงสิทธิของโจทก์ในฐานะผู้รับจำนองที่ดินพิพาทลำดับแรกไว้ได้โดยไม่กระทบสิทธิของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ดังนั้น ที่โจทก์มีคำขอท้ายคำฟ้องในลำดับแรก ขอให้ศาลพิพากษาว่านิติกรรมไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ตกเป็นโมฆะ และให้มีการเพิกถอนนิติกรรมไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาท โดยให้โจทก์เป็นผู้รับจำนองที่ดินพิพาทลำดับแรกตามเดิม จึงเป็นกรณีที่สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้ทำเช่นนั้นได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคหนึ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 แต่ไม่ได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 161 และมาตรา 167 และศาลอุทธรณ์ภาค 2 มิได้แก้ไข ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 167
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 731

ผู้พิพากษา

สุทธิโชค เทพไตรรัตน์
สรศักดิ์ วาจาสิทธิศิลป์
ศรีอัมพร ศาลิคุปต์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android