คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20953/2556

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 22 มี.ค. 2559 11:20:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามรับผิดเฉพาะค่าเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องในการตรวจรับมอบงานงวดที่ 1 ถึงที่ 4 ส่วนคดีที่ศาลจังหวัดนครสวรรค์พิพากษาให้บริษัท พ. รับผิดต่อโจทก์ในคดีนี้ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้ดังกล่าวแล้วหรือไม่ อย่างไร การที่ศาลแรงงานภาค 6 ให้นำค่าเสียหายที่ศาลจังหวัดนครสวรรค์พิพากษาให้บริษัท พ. รับผิดต่อโจทก์มาหักกับค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสามต้องรับผิดในคดีนี้จึงไม่ชอบ แต่การที่ศาลจังหวัดนครสวรรค์พิพากษาให้บริษัท พ. รับผิดต่อโจทก์ เนื่องจากการก่อสร้างผิดแบบแปลนเป็นมูลกรณีสืบเนื่องมาจากจำเลยทั้งสามปฏิบัติหน้าที่บกพร่องในการตรวจรับมอบงานเป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย ดังนั้นหากโจทก์ได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากบริษัท พ. แล้วเพียงใดก็ย่อมทำให้ความรับผิดที่จำเลยทั้งสามต้องรับผิดต่อโจทก์ในคดีนี้ลดลงตามไปด้วย
คดีของศาลแรงงานกลางมีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลย (โจทก์คดีนี้) มีสิทธิหักเงินที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ (จำเลยที่ 1 คดีนี้) ก่อให้เกิดความเสียหายเนื่องจากโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการตรวจรับงานจ้างบกพร่องจากเงินบำเหน็จที่จำเลยจะต้องจ่ายให้โจทก์เมื่อโจทก์เกษียณอายุหรือไม่ แล้ววินิจฉัยว่าจำเลยหักเงินบำเหน็จได้ แต่ค่าเสียหายที่จำเลยนำมาหักจากเงินบำเหน็จของโจทก์ซึ่งเป็นการหักกลบลบหนี้เป็นหนี้ที่จำเลยยังไม่ได้ฟ้องบริษัท พ. ให้รับผิดตามสัญญาจ้าง เป็นหนี้ที่ยังมีข้อโต้แย้งและจำนวนเงินยังไม่แน่นอน จำเลยจึงไม่มีสิทธิหักเงินบำเหน็จของโจทก์ไว้ ศาลฎีกาพิพากษายืน คดีดังกล่าวศาลไม่ได้วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการก่อสร้างไม่ถูกแบบให้โจทก์ โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายจากการก่อสร้างไม่ถูกแบบเนื่องจากจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการตรวจรับงานจ้างบกพร่องได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 344
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

ผู้พิพากษา

ปัญญา สุทธิบดี
ชัยวัฒน์ เวียงธีรวัฒน์
นิยุต สุภัทรพาหิรผล

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android