คำพิพากษาย่อสั้น
คดีนี้โจทก์นายจ้างฟ้องขอให้ศาลแรงงานกลางเพิกถอนคำสั่งของจำเลยพนักงานตรวจแรงงาน ที่สั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่ จ. ลูกจ้างโดยศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เลิกจ้าง จ. มีผลสมบูรณ์แล้วตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 ดังนั้น สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับ จ. จึงสิ้นสุดลงและมีผลตามกฎหมายนับตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป โจทก์ไม่อาจใช้สิทธิเพิกถอนการเลิกจ้างนั้นได้อีก แม้ว่าในภายหลังโจทก์จะพบเรื่องที่อ้างว่า จ. กระทำผิดระเบียบวินัยร้ายแรงกรณีละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงาน ติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร การทะเลาะวิวาท และการรับสินบน โจทก์จะยกเหตุดังกล่าวมาเป็นเหตุเลิกจ้างอีกครั้งหาได้ไม่ เพราะความสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างและลูกจ้างระหว่างโจทก์กับ จ. ได้สิ้นสุดลงไปแล้ว
แม้ จ. ยื่นคำร้องต่อจำเลยเรียกร้องเฉพาะค่าชดเชย และให้การว่าไม่ติดใจเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอีกก็ตาม แต่สิทธิที่จะได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าของลูกจ้างเป็นสิทธิที่มีกฎหมายรับรองและคุ้มครองให้ ในกรณีที่นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสอง กรณีไม่อาจถือได้ว่าเป็นการสละสิทธิ และสิทธิที่จะได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหาได้ระงับสิ้นไปไม่ เพราะมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งคู่สัญญาตกลงระงับข้อพิพาทให้แก่กันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เมื่อสิทธิดังกล่าวคงมีอยู่ตามกฎหมาย ลูกจ้างจะใช้สิทธิเมื่อใดก็ได้ภายในอายุความตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติจำกัดสิทธิดังกล่าวของลูกจ้างในการยื่นคำร้องเพื่อให้ดำเนินการได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อจำเลยสอบสวนตามคำร้องของลูกจ้างแล้วปรากฏว่า ลูกจ้างมีสิทธิที่จะได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ซึ่งเป็นเงินที่โจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายตามกฎหมาย การที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้าง จึงเป็นคำสั่งตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 124 วรรคสาม คำสั่งของจำเลยที่สั่งให้โจทก์จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว