คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2660/2556

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 10 ก.พ. 2558 14:52:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
จำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างจ่ายเงินค่าเบี้ยกันดารและค่าเช่าที่พักให้โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างเมื่อโจทก์ต้องไปทำงานในต่างจังหวัด หากโจทก์กลับเข้ามาทำงานในกรุงเทพมหานครแล้วจำเลยที่ 1 ไม่จ่ายให้ แสดงว่าจำเลยที่ 1 จ่ายเงินทั้งสองประเภทให้แก่โจทก์เป็นสวัสดิการ ไม่ใช่จ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติ เงินค่าเบี้ยกันดารและค่าเช่าที่พักจึงไม่เป็นค่าจ้าง
โจทก์แจ้งความประสงค์ให้จำเลยที่ 1 แบ่งจ่ายค่าจ้างเดือนละ 2 ครั้ง ในวันที่ 15 และวันสิ้นเดือนของทุกเดือน จำเลยที่ 1 ตกลง เกิดเป็นข้อตกลงส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างในการจ่ายค่าจ้างให้เป็นไปตามกำหนดนั้น สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่มีกำหนดระยะเวลาจำเลยที่ 1 บอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์วันที่ 29 กรกฎาคม 2547 เป็นผลให้สัญญาจ้างเลิกกันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปคือวันที่ 15 สิงหาคม 2547 เมื่อจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ทันทีตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2547 โดยไม่ได้บอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2547 ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2547 รวม 18 วัน
แผนรางวัลอายุงานเป็นสภาพการจ้างที่ผูกพันจำเลยที่ 1 กับพนักงานที่รวมถึงโจทก์ด้วย ตามระเบียบแผนรางวัลอายุงานจำเลยที่ 1 มีสิทธิลดเงินรางวัลอายุงานลงได้เพื่อให้สอดคล้องเหมาะสมแก่ประโยชน์ที่โจทก์ได้รับจากแหล่งต่างๆ รวมทั้งการเลิกจ้างในทุกกรณี โดยไม่มีข้อยกเว้นกรณีการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เมื่อโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยอันเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายเพราะการเลิกจ้าง จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธินำค่าชดเชยไปหักออกจากเงินรางวัลอายุงานที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากจำเลยที่ 1
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118

ผู้พิพากษา

อนันต์ ชุมวิสูตร
ชัยวัฒน์ เวียงธีรวัฒน์
นิยุต สุภัทรพาหิรผล

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android