คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12827/2556

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 13 ม.ค. 2558 10:54:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทย่อมมีสิทธิที่จะเรียกให้แบ่งทรัพย์สินที่ตนเองเป็นเจ้าของรวมอยู่ได้ เว้นแต่จะมีนิติกรรมขัดอยู่ หรือถ้าวัตถุประสงค์ที่เป็นเจ้าของรวมกันนั้นมีลักษณะเป็นการถาวร ก็จะเรียกแบ่งไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1363 วรรคหนึ่ง ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า มีข้อตกลงร่วมกันระหว่างบิดาขณะยังมีชีวิตอยู่กับบุตรทุกคนรวมทั้งโจทก์ จำเลยทั้งสี่ และ ธ. ด้วยว่าห้ามโอนหรือแบ่งแยกที่พิพาท ซึ่งมีลักษณะเป็นนิติกรรมห้ามแบ่งแยกระหว่างเจ้าของรวมด้วยกัน แต่จะรับฟังถึงขนาดว่าวัตถุประสงค์ที่โจทก์ จำเลยทั้งสี่ และ ธ. เป็นเจ้าของรวมกันมีลักษณะเป็นการถาวรคงยังไม่ชัดแจ้งนัก ทั้งนิติกรรมที่ห้ามแบ่งทรัพย์สิน จะใช้บังคับระหว่างเจ้าของรวมด้วยกันเกิน 10 ปี ไม่ได้ ตามมาตรา 1363 วรรคสอง หาใช่ว่าไม่มีกำหนดระยะเวลาดังที่จำเลยทั้งสี่กล่าวอ้างมาในฎีกาไม่ เมื่อนิติกรรมห้ามโอนได้ตกลงกันไว้ตั้งแต่ปี 2534 จนถึงวันที่โจทก์ฟ้องขอเรียกแบ่งทรัพย์สินเกินกว่า 10 ปี แล้ว และไม่ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องเรียกขอแบ่งทรัพย์สินในเวลาที่ไม่เป็นโอกาสอันควร ตามมาตรา 1363 วรรคสาม โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกให้แบ่งที่ดินพิพาทได้ตามมาตรา 1363 วรรคหนึ่ง
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1363

ผู้พิพากษา

ทวีป ตันสวัสดิ์
ศิริชัย วัฒนโยธิน
พศวัจณ์ กนกนาก

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android