คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13995/2555

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 11 ก.พ. 2558 09:07:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 87/3 และมาตรา 86/12 บัญญัติให้ผู้ประกอบการเก็บและรักษาเอกสารหลักฐาน และกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ประกอบการ (ผู้ขายสินค้า) ออกใบแทนใบกำกับภาษี หากไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของกฎหมายแล้ว ผู้ประกอบการ (ผู้ซื้อสินค้า) ไม่สามารถนำใบกำกับภาษีซื้อดังกล่าวมาหักในการคำนวณภาษี ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับการที่เจ้าพนักงานประเมินนำข้อมูลที่ปรากฏตามสำเนาใบกำกับภาษีที่โจทก์นำมามอบให้นั้น เพื่อใช้ตรวจสอบยอดซื้อสินค้าของโจทก์ ซึ่งโดยปกติผู้ขายจะออกใบกำกับภาษีให้โจทก์เมื่อส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์แล้ว ดังนั้น เจ้าพนักงานประเมินสามารถนำข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อสินค้าดังกล่าว มาพิสูจน์หายอดต้นทุนขายจากการเปรียบเทียบรายได้และรายจ่ายในงบกำไรขาดทุนอันเป็นตัวเลขที่เกิดจากการประกอบการของโจทก์ได้ ดังนั้น การที่โจทก์ขายสินค้าต่ำกว่าราคาทุน และได้แสดงหลักฐานในชั้นพิจารณาอุทธรณ์โดยส่งเอกสารเพิ่มเติม และอุทธรณ์อ้างว่าเงินสนับสนุนการขายหรือ SWAP มิใช่เป็นฐานภาษีมูลค่าเพิ่มจึงไม่ชอบที่จะนำมารวมคำนวณหาอัตรากำไรขั้นต้น แต่เจ้าพนักงานประเมิน ได้วิเคราะห์งบการเงินจากแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (ภ.ง.ด. 50) ในส่วนต้นทุนขาย เทียบกับยอดซื้อในแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 30) จากการคำนวณโจทก์มียอดขายขาดไป 18,540,232.21 บาท ซึ่งเป็นการคำนวณตามหลักการบัญชีที่ยอมรับโดยทั่วไป เมื่อโจทก์ไม่สามารถนำหลักฐานมาพิสูจน์ได้ว่าเป็นยอดขายขาดของเดือนภาษีใด เจ้าพนักงานประเมินจึงถัวเฉลี่ยยอดขายขาดเดือนละ 1,545,019.35 บาท และเดือนภาษีธันวาคม 2543 โจทก์ไม่สามารถนำหลักฐานพิสูจน์ยอดซื้อ และทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าสินค้าของโจทก์สูญหายหรือเสียหายจากอุทกภัยแต่อย่างใด จึงถือว่าเป็นยอดซื้อแจ้งไว้ขาดไป ถือว่าโจทก์ขายสินค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามคำนิยาม "ขาย" มาตรา 77/1 (8) (จ) เจ้าพนักงานประเมิน ประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มแก่โจทก์ เป็นการประเมินภาษีตามที่รู้เห็นหรือพิจารณาว่าถูกต้องตามมาตรา 88/2 (6) จึงเป็นการประเมินที่ชอบแล้ว
เจ้าหน้าที่ผู้พิจารณาอุทธรณ์ พิสูจน์หายอดต้นทุนขายสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีพิพาทเปรียบเทียบกับยอดขายที่โจทก์แสดงรายการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 30) ในช่วงดังกล่าว ปรากฏว่ายอดซื้อสุทธิ 60,480,554.29 บาท ได้ต้นทุนขาย 49,070,721.39 บาท แล้วคำนวณหายอดขายตามการตรวจสอบโดยนำต้นทุนขายคำนวณกลับเพื่อหายอดขายจากอัตรากำไรขั้นต้นตามงบการเงินร้อยละ 4.35 ได้ยอดขาย 51,302,374.68 บาท นำไปหักกับยอดขายที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 30) ในช่วง 12 เดือนดังกล่าว จำนวน 32,762,142.47 บาท คงเหลือยอดขายที่ยื่นไว้ขาดไป 18,540,232.31 บาท ซึ่งโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นยอดขายของเดือนภาษีใด เจ้าพนักงานประเมินจึงถัวเฉลี่ยยอดขายขาด มียอดขายขาดไปเดือนละ 1,545,019.35 บาท วิธีการคำนวณอาศัยข้อมูลทางการเงินจากการบันทึกบัญชีของโจทก์และมีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตได้รับรองและแสดงความคิดเห็นต่องบการเงินว่าได้จัดทำขึ้นตามมาตรฐานการบัญชีทั่วไป ทั้งเป็นข้อมูลทางบัญชีที่โจทก์บันทึกเกี่ยวกับกิจกรรมการประกอบการของโจทก์เอง จึงเชื่อว่าโจทก์แสดงเหตุการณ์ทางบัญชีตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และการที่เจ้าหน้าที่ผู้พิจารณาอุทธรณ์นำตัวเลขของผู้ประกอบการลักษณะเดียวกันจำนวนถึง 29 ราย ซึ่งประกอบกิจการอยู่ในท้องที่นั้นในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกันมาเปรียบเทียบกำไรขั้นต้น ค่าเฉลี่ยที่ได้ย่อมถือว่าได้ตัวเลขที่มีข้อมูลน่าเชื่อว่าเกิดจากการดำเนินงานตามปกติของธุรกิจนั้น ๆ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้พิจารณาโดยชอบและให้ความเป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 88/2
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 24
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225
  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 86/12
  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 77/1
  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 87/3

ผู้พิพากษา

พันวะสา บัวทอง
องอาจ โรจนสุพจน์
วีระศักดิ์ นิศามณี

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android