คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13878/2556

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 16 มี.ค. 2558 14:38:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
การตีความการแสดงเจตนาในการทำสัญญาขายลิขสิทธิ์เพลงระหว่าง ฉ. ในฐานะผู้จัดการมรดกและผู้รับมรดกของ พ. ผู้แต่งทำนองและคำร้องเพลงซึ่งเป็นงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์กับโจทก์ลงวันที่ 5 มกราคม 2516 และการตีความการแสดงเจตนาในการทำสัญญาขายลิขสิทธิ์เพลงระหว่าง ฉ. ในฐานะผู้จัดการมรดกและผู้รับมรดกของ พ. ดังกล่าวกับจำเลยที่ 1 ลงวันที่ 17 เมษายน 2518 ว่าเป็นสัญญาโอนลิขสิทธิ์เพลงหรือสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญายิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรที่ปรากฏในสัญญาดังกล่าว ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 171 การค้นหาเจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญาต้องพิจารณาจากพฤติการณ์ต่างๆ ที่คู่สัญญาปฏิบัติต่อกันภายหลังจากทำสัญญานั้น ไม่อาจถือตามชื่อสัญญาได้เพราะข้อความในสัญญาและพฤติการณ์ที่คู่สัญญาปฏิบัติต่อกันภายหลังจากทำสัญญาอาจไม่เป็นไปตามชื่อสัญญานั้นก็เป็นได้ สำหรับสัญญาระหว่าง ฉ. ในฐานะผู้จัดการมรดกและผู้รับมรดกของ พ. ผู้แต่งทำนองและคำร้องเพลงซึ่งเป็นงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์กับโจทก์ แม้ข้อความในสัญญาลงวันที่ 5 มกราคม 2516 จะระบุว่า ฉ. ผู้จัดการมรดกของ พ. ได้ขายลิขสิทธิ์เพลงทั้งหมดของ พ.ให้แก่โจทก์เพื่อทำแผ่นเสียง-เทปและประโยชน์อื่นๆ โดย ฉ. ได้รับค่าตอบแทนไปแล้วจำนวน 200,000 บาท ก็ตาม แต่ปรากฏต่อมาเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2538 ว่า ฉ. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ พ. ได้ทำสัญญาโอนลิขสิทธิ์ในคำร้องและหรือทำนองเพลงทั้งหมดจากบทประพันธ์ของ พ. ให้แก่บริษัท ม. ซึ่งโจทก์เป็นกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจ โดย ฉ. ได้รับค่าตอบแทนจำนวน 300,000 บาท จากบริษัทดังกล่าวอีก ดังนี้ หากสัญญาลงวันที่ 5 มกราคม 2516 เป็นสัญญาที่ ฉ. โอนลิขสิทธิ์เพลงทั้งหมดที่ พ. แต่งให้แก่โจทก์ก็ไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ม. จะต้องทำสัญญาลงวันที่ 24 เมษายน 2538 ซื้อลิขสิทธิ์เพลงทั้งหมดที่ พ. แต่งจาก ฉ. โดยจ่ายค่าแห่งลิขสิทธิ์จำนวน 300,000 บาท ให้แก่ ฉ. อีก เพราะลิขสิทธิ์ในเพลงที่ พ. แต่งทั้งหมดตกเป็นของโจทก์ตามสัญญาลงวันที่ 5 มกราคม 2516 แล้ว แสดงให้เห็นว่าลิขสิทธิ์ในเพลงดังกล่าวมิได้ตกเป็นของโจทก์แต่ยังคงเป็นลิขสิทธิ์ของ ฉ. ทายาท พ. แต่เพียงผู้เดียว ดังนี้ เจตนาในการทำสัญญาระหว่าง ฉ. กับโจทก์จึงเป็นเพียงเจตนาที่ ฉ. อนุญาตให้โจทก์ใช้ลิขสิทธิ์ในเพลงที่ พ. แต่งเท่านั้น ไม่ได้เจตนาโอนลิขสิทธิ์ในเพลงดังกล่าวให้แก่โจทก์แต่อย่างใด การที่โจทก์ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำแทนบริษัท ม. เข้าทำสัญญารับโอนลิขสิทธิ์เพลงที่ พ. แต่งตามสัญญาลงวันที่ 24 เมษายน 2538 จาก ฉ. แสดงให้เห็นว่าโจทก์ทราบดีในขณะทำสัญญาลงวันที่ 5 มกราคม 2516 ว่าโจทก์เป็นเพียงผู้รับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ในเพลงที่ พ. แต่งเท่านั้น ส่วนสัญญาที่ ฉ. ขายลิขสิทธิ์ในเพลงทั้งหมดที่ พ. แต่งให้แก่จำเลยที่ 1 ลงวันที่ 17 เมษายน 2518 นั้น ก็ปรากฏต่อมาว่า เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2521 ฉ. ได้ขายลิขสิทธิ์เพลงที่ พ. แต่งจำนวน 12 เพลง และจำนวน 6 เพลง ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ผ. ซึ่งมีจำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการอีก ซึ่งหากจำเลยที่ 1 ได้รับโอนลิขสิทธิ์เพลงของ พ. ทั้งหมดมาแล้วตามสัญญาลงวันที่ 17 เมษายน 2518 ที่ระบุไว้ในข้อ 1 ว่า ฉ. ผู้ขายซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกและเป็นผู้รับมรดกของ พ. แต่เพียงผู้เดียวตกลงโอนขายสิทธิเพลงทั้งหมดของ พ. ตลอดอายุลิขสิทธิ์จริง จำเลยที่ 1 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด ผ. ก็หาจำต้องซื้อลิขสิทธิ์เพลงของ พ. จาก ฉ. อีก จำเลยที่ 1 สามารถอนุญาตให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ผ. ใช้ลิขสิทธิ์ในเพลงนั้นได้อยู่แล้ว แสดงให้เห็นว่าในขณะทำสัญญาลงวันที่ 17 เมษายน 2518 ทั้ง ฉ. และจำเลยที่ 1 มีเจตนาตรงกัน กล่าวคือจำเลยที่ 1 มีเจตนาเพียงขออนุญาตใช้ลิขสิทธิ์เพลงที่ พ. แต่งจาก ฉ. ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงดังกล่าวในฐานะทายาทของ พ. เท่านั้น มิได้มีเจตนาซื้อลิขสิทธิ์เพลงจาก ฉ. แต่อย่างใด ลิขสิทธิ์เพลงทั้งหมดที่ พ. แต่งในขณะทำสัญญาเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2518 และวันที่ 7 กรกฎาคม 2521 จึงยังคงเป็นของ ฉ. ดังนี้ สัญญาโอนขายลิขสิทธิ์เพลงลงวันที่ 17 เมษายน 2518 จึงเป็นสัญญาโอนลิขสิทธิ์เพลงแต่เพียงชื่อ แต่ที่แท้จริงสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงที่ พ. แต่งเท่านั้น เมื่อลิขสิทธิ์ในเพลงที่ พ. แต่งทั้งหมดยังคงเป็นของ ฉ. ในขณะทำสัญญาขายลิขสิทธิ์เพลงลงวันที่ 5 มกราคม 2516 และสัญญาขายลิขสิทธิ์เพลงลงวันที่ 17 เมษายน 2518 เป็นเพียงสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ ไม่ใช่สัญญาโอนลิขสิทธิ์ โจทก์จึงไม่ได้ลิขสิทธิ์ในเพลงทั้งหมดดังกล่าวมาตามสัญญาลงวันที่ 5 มกราคม 2516 โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมที่ พ. แต่ง
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 16
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 17
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 171
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 15

ผู้พิพากษา

ปริญญา ดีผดุง
อร่าม เสนามนตรี
ธัชพันธ์ ประพุทธนิติสาร

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android