คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12666/2556

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 27 ก.พ. 2558 12:41:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
การแต่งตั้งจำเลยทั้งห้าและ ป. เป็นคณะกรรมการตรวจการจ้าง แม้ไม่เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2538 แก้ไขเพิ่มเติมถึง ฉบับที่ 3 พ.ศ.2544 ข้อ 22 เป็นเพียงการบกพร่องต่อหน้าที่ในส่วนของผู้ที่มีคำสั่งแต่งตั้ง แต่ตราบใดที่คำสั่งยังไม่ได้ถูกเพิกถอน การใด ๆ ที่คณะกรรมการตรวจการจ้างได้ปฏิบัติไปภายใต้คำสั่งดังกล่าว ย่อมต้องถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นคณะกรรมการตรวจการจ้างแล้ว ดังนี้คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจการจ้างดังกล่าวจะชอบหรือไม่จึงเป็นคนละส่วนกันและมิได้มีผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยทั้งห้าแต่อย่างใด
จำเลยที่ 1 และที่ 5 เป็นกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลนาอุดม ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 เมื่อได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการตรวจการจ้างตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา จึงถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงาน ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 มิได้อยู่ในบังคับบัญชาที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาอุดม แม้ตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 มาตรา 27 (5) กำหนดให้ผู้ใหญ่บ้านมีอำนาจหน้าที่ให้การสนับสนุน ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่หรือการให้บริการของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจการจ้างสำหรับการซื้อการจ้างโดยวิธีสอบราคา ประกวดราคาและวิธีพิเศษ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2538 แก้ไขเพิ่มเติมถึง ฉบับที่ 3 พ.ศ.2544 ข้อ 22 คงกำหนดให้แต่งตั้งผู้แทนชุมชนหรือประชาคมที่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับงานที่จะซื้อหรือจ้างเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการด้วยอย่างน้อยสองคน มิได้กำหนดว่าต้องแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้รับแต่งตั้งเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจการจ้าง จึงเป็นในฐานะผู้แทนชุมชนหรือประชาคม มิใช่ในฐานะผู้ใหญ่บ้านท้องที่ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงมิได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงานด้วยการให้การสนับสนุน ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่หรือการให้บริการของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามอำนาจหน้าที่ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แต่การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมตรวจรับงานกับจำเลยที่ 1 และที่ 5 ดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการช่วยเหลือให้เจ้าพนักงานกระทำความผิดสำเร็จ จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 แม้โจทก์ฟ้องมิได้ฟ้องขอให้ลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดซึ่งโทษเบากว่าความผิดฐานเป็นตัวการได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคแรก
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
  • พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มาตรา 157
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192

ผู้พิพากษา

วิรุฬห์ แสงเทียน
ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี
วรงค์พร จิระภาค

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android