คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16312/2555

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 3 เม.ย. 2558 15:55:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
เมื่อผู้คัดค้านมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับทรัพย์มรดกและมีการฟ้องร้องผู้ร้องเพื่อเรียกทรัพย์คืนจากผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดก การที่จะให้ ส. บุตรของผู้คัดค้านเข้ามาเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องคงจะไม่อาจร่วมกันจัดการเพื่อประโยชน์ของกองมรดกได้ เพราะอำนาจของผู้จัดการมรดกในกรณีที่มีสองคนนั้น การจัดการจะต้องดำเนินการร่วมกัน ถ้าเกิดเป็นสองฝ่ายแล้วกรณีก็ไม่อาจจะหาเสียงข้างมากตาม ป.พ.พ. มาตรา 1726 ได้ และคนใดคนหนึ่งก็ไม่อาจจัดการไปได้ จึงสมควรให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกแต่เพียงผู้เดียวแต่เพื่อมิให้เป็นการเสียหายแก่ฝ่ายผู้คัดค้านซึ่งเป็นทายาทด้วยสมควรวางเงื่อนไขในคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกว่าถ้าจะจำหน่ายจ่ายโอนหรือก่อภาระติดพันกับทรัพย์มรดกที่มีหลักฐานทางทะเบียนให้แก่บุคคลที่มิใช่ทายาทที่มีสิทธิได้รับมรดกโดยมิได้รับความเห็นชอบจากทายาททุกคนแล้ว จะต้องขออนุญาตจากศาลก่อน
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1726

ผู้พิพากษา

พรเพชร วิชิตชลชัย
ทัศนีย์ จั่นสัญจัย ธรรมเกณฑ์
สุนันท์ ชัยชูสอน

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android