คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20513/2555

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 17 มิ.ย. 2558 09:33:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
คำฟ้องของโจทก์ทั้งหมดบรรยายว่า โจทก์ทั้งหมดมีสิทธิได้รับการปรับอัตราค่าจ้างและได้รับบำเหน็จในส่วนที่ขาดตามมติคณะรัฐมนตรีและบันทึกข้อตกลงซึ่งเป็นสภาพแห่งข้อหา โดยมีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีและบันทึกข้อตกลงนั้น ส่วนที่โจทก์แต่ละคนได้รับเงินเดือนในแต่ละปีจำนวนเท่าใด ถ้ามีการปรับค่าจ้างจะต้องใช้อัตราเงินเดือนใดในการคำนวณ และโจทก์แต่ละคนจะได้รับเงินตามฟ้องจำนวนเท่าใดนั้น เมื่อโจทก์ทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลย จำเลยย่อมมีข้อมูลเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดี ทั้งเป็นรายละเอียดที่สามารถนำสืบพิสูจน์กันในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลางได้ คำฟ้องของโจทก์ทั้งหมดได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 แล้ว ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม
โจทก์ทั้งหมดฟ้องขอให้จำเลยปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงโดยการปรับอัตราค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีซึ่งจำเลยได้ปฏิบัติมาโดยตลอด เป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เมื่อจำเลยยังไม่ได้ปรับอัตราค่าจ้างของโจทก์ทั้งหมดตามมติคณะรัฐมนตรี เงินที่โจทก์ทั้งหมดฟ้องให้จำเลยปรับอัตราค่าจ้างจึงยังไม่มีสภาพเป็นค่าจ้าง สิทธิเรียกร้องให้จำเลยดำเนินการดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นการเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
องค์การค้าของคุรุสภาโอนไปเป็นองค์การค้าของจำเลยตาม พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 มาตรา 83 (1) องค์การค้าจึงเป็นหน่วยงานภายในส่วนหนึ่งของจำเลย มาตรา 82 วรรคสอง บัญญัติให้เจ้าหน้าที่และพนักงานที่โอนไปเป็นของจำเลยได้รับตำแหน่ง เงินเดือน ค่าจ้าง และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ไม่น้อยกว่าที่ได้รับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ ทั้งข้อบังคับคณะกรรมการของจำเลยว่าด้วยการบริหารสำนักงาน พ.ศ.2547 ข้อ 31 (9) กำหนดให้โอนบรรดาส่วนงาน กิจการ เงิน ทรัพย์สิน หนี้ อัตรากำลังพนักงานเจ้าหน้าที่และลูกจ้างของศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ (องค์การค้าของคุรุสภา) ให้ไปเป็นขององค์การค้าของจำเลย ข้อ 32 กำหนดว่าบทบัญญัติของกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หนังสือสัญญา หรือสิ่งอื่นใดที่อ้างถึงองค์การค้าของคุรุสภาหรือศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ก่อนการใช้ข้อบังคับนี้ให้ถือว่าอ้างถึงองค์การค้าของจำเลย เมื่อองค์การค้าของคุรุสภาได้ให้สิทธิประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่ของตนด้วยการปฏิบัติตามมติคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาครั้งที่ 15/2537 โดยปรับขึ้นค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีให้แก่เจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของคุรุสภาตลอดมา การปฏิบัติดังกล่าวจึงเป็นสภาพการจ้างโดยปริยาย จำเลยย่อมจะต้องรับมาซึ่งสิทธิและหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว และโจทก์ทั้งหมดยังคงมีสิทธิในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยายตามมาตรา 82 วรรคสอง เจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของจำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลย การที่จำเลยปรับขึ้นค่าจ้างให้แก่เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานของจำเลยโดยไม่ปรับขึ้นค่าจ้างให้แก่เจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของจำเลยตามที่เคยปฏิบัติสืบเนื่องกันมาย่อมไม่เป็นธรรมและไม่เป็นไปตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยาย
มติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติให้รัฐวิสาหกิจปรับค่าจ้างแก่ลูกจ้างมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ที่ยังมีสภาพเป็นลูกจ้างอยู่ในวันที่คณะรัฐมนตรีลงอนุมัติ หาใช่ให้ปรับค่าจ้างแก่ลูกจ้างที่พ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างไปแล้วในวันที่มติคณะรัฐมนตรีมีผลใช้บังคับไม่ การปรับค่าจ้างให้เจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของจำเลยซึ่งนำหลักการของมติคณะรัฐมนตรีมาปรับใช้ย่อมต้องเป็นไปตามหลักการนั้นด้วย ดังนั้นโจทก์ที่พ้นจากสภาพการเป็นลูกจ้างของจำเลยไปก่อนวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติจึงไม่มีสิทธิได้รับการปรับอัตราค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรี
คำพิพากษาศาลแรงงานกลางที่เพียงแต่พิพากษาให้จำเลยปรับขึ้นค่าจ้างและจ่ายบำเหน็จส่วนที่ขาดให้แก่โจทก์แต่ละคนในแต่ละช่วงเวลาตามสิทธิ โดยให้เป็นไปตามหลักการตามมติคณะรัฐมนตรีแต่ละครั้ง และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันเกิดสิทธิ จำเลยสามารถนำหลักการตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางไปเป็นหลักในการคิดคำนวณและดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาได้ เมื่อคำพิพากษาศาลแรงงานกลางได้กล่าวและแสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปและวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีพร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยครบถ้วนจึงเป็นคำพิพากษาที่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง แล้ว
การที่จำเลยทราบถึงความมรณะของโจทก์ที่ 119 แล้วยื่นคำคัดค้านแต่เพียงว่าทนายความโจทก์ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องและไม่รับรองความเป็นทนายของ อ. บุตรของโจทก์ที่ 119 โดยไม่ได้คัดค้านการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบของศาลแรงงานกลาง ทั้งยังคงเข้าทำหน้าที่ของตนในวันนัดสืบพยานจำเลยและพยานโจทก์ต่อเนื่องกันมา จนกระทั่งศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ อ. เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ที่ 119 ได้ จำเลยจึงยื่นคำร้องคัดค้านว่าศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 42 เป็นกรณีที่จำเลยทราบถึงกระบวนการพิจารณาที่ผิดระเบียบ แล้วยังคงดำเนินการในหน้าที่ของตนต่อไป เท่ากับจำเลยได้ให้สัตยาบันแก่การผิดระเบียบนั้นแล้ว จึงไม่อาจยกกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวมาเป็นเหตุอ้างว่าคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางในส่วนของโจทก์ที่ 119 ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
เงินที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิที่จะได้รับอันเนื่องมาจากการปรับอัตราค่าจ้างตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยาย เงินนั้นยังไม่มีสภาพเป็นค่าจ้าง มิใช่ค่าจ้างที่จะมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง แต่เป็นหนี้เงินที่คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เท่านั้น
เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระเงินที่ได้จากการปรับอัตราค่าจ้างและเงินบำเหน็จส่วนที่ขาดในวันใด จึงต้องถือว่าจำเลยผิดนัดนับแต่วันฟ้องของโจทก์แต่ละคน ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51
  • พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 มาตรา 82
  • พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 มาตรา 83

ผู้พิพากษา

พงษ์เทพ ศิริพงศ์ติกานนท์
ชัยวัฒน์ เวียงธีรวัฒน์
พิทยา บุญชู

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android