คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7158/2555

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 17 มิ.ย. 2559 14:56:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ในการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากภาพรวมของลักษณะเครื่องหมายการค้าทั้งสองทั้งหมด ลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้า และสำเนียงเรียกขานคำในเครื่องหมายการค้าทั้งสองว่าเหมือนกันหรือคล้ายกันเพียงใด ตลอดจนต้องพิจารณาว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งสองเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกที่มีลักษณะอย่างเดียวกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ ไม่อาจพิจารณาเฉพาะภาคส่วนใดส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าทั้งสองโดยไม่พิจารณาคำว่า "VALENTINO" ที่จำเลยร่วมได้แสดงปฏิเสธไม่ขอถือสิทธิในคำนี้เป็นของตนแต่ผู้เดียว เพราะการที่จำเลยร่วมปฏิเสธไม่ขอถือสิทธิในคำว่า "VALENTINO" ในเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมเป็นของตนแต่ผู้เดียวนั้นมีผลเพียงไม่อาจห้ามผู้อื่นมิให้ใช้คำว่า "VALENTINO" เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าได้เท่านั้น ไม่มีผลทำให้คำว่า "VALENTINO" ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยร่วมกลายเป็นคำที่มิได้ใช้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าทั้งสอง
แม้ว่ารายการสินค้าของโจทก์และจำเลยร่วมจะเป็นสินค้าคนละชนิดกัน แต่อยู่ในรายการสินค้าจำพวกที่ 21 เช่นเดียวกัน เพียงแต่เป็นสินค้าอุปกรณ์ที่ใช้ในห้องครัวกับเป็นสินค้าเครื่องสุขภัณฑ์ที่ใช้ในห้องน้ำ จึงเป็นสินค้าที่ใช้ในครัวเรือนเช่นเดียวกัน ถือได้ว่าเป็นสินค้าที่มีลักษณะอย่างเดียวกันเพราะผู้ใช้เป็นบุคคลในครัวเรือนกลุ่มเดียวกัน เครื่องหมายการค้าทั้งสองมีลักษณะการวางตัวอักษร "V" และคำว่า "Valentino" คล้ายกันมาก ส่วนการประดิษฐ์ตัวอักษร "V" แม้จะแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่เป็นความแตกต่างเพียงเล็กน้อยเพราะยังคงอ่านได้ว่า "วี" เหมือนกัน เครื่องหมายการค้าของโจทก์เรียกขานได้ว่า "วี วาเลนติโน่ รูดี้" ส่วนของจำเลยร่วมเรียกขานได้ว่า "วี วาเลนติโน่" ตัวอักษร "V" และคำว่า "Valentino" ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยร่วมเป็นส่วนอันเป็นสาระสำคัญและเป็นลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้าทั้งสอง เมื่อใช้กับสินค้าในจำพวกเดียวกันที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 13
เมื่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมแล้ว หากคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะพิจารณาหลักฐานต่าง ๆ ของผู้ขอจดทะเบียนต่อไปว่าสมควรจะรับจดทะเบียนหรือไม่ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าต้องพิจารณาหลักฐานต่าง ๆ นั้นว่าผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นมาแล้วโดยสุจริตหรือมีพฤติการณ์พิเศษที่นายทะเบียนสมควรรับจดทะเบียนหรือไม่ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 27 เท่านั้น เพราะมาตรา 13 อยู่ในบังคับของมาตรา 27 คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่อาจพิจารณาหลักฐานต่าง ๆ ของผู้ขอจดทะเบียนว่าหลักฐานนั้นยังไม่เพียงพอที่จะแสดงว่าผู้ขอจดทะเบียนได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาเป็นเวลานานหรือมีความแพร่หลายทั่วไปแล้วในประเทศไทยตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงพาณิชย์เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปได้ เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นการพิจารณาลักษณะของเครื่องหมายการค้าที่ต้องห้ามเด็ดขาดไม่ให้รับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 (10) ไม่เกี่ยวกับการพิจารณารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว มาตรา 13 และ 27
ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 27 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าอาจรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ในกรณีใดกรณีหนึ่งใน 2 กรณี ดังนี้คือ หากนายทะเบียนเห็นว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวนั้นต่างคนต่างได้ใช้มาแล้วด้วยกันโดยสุจริตกรณีหนึ่ง หรือหากนายทะเบียนเห็นสมควรรับจดทะเบียนอีกกรณีหนึ่ง ซึ่งการที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าทั้งสองต่างคนต่างได้ใช้เครื่องหมายการค้าของแต่ละคนมาแล้วด้วยกันโดยสุจริตนั้น ต้องเป็นกรณีที่ต่างคนต่างได้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นในประเทศไทยมาก่อนที่ผู้ขอจดทะเบียนจะได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันนั้น ส่วนกรณีมีพฤติการณ์พิเศษก็ต้องเป็นกรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนได้ใช้เครื่องหมายการค้าที่ยื่นคำขอจดทะเบียนกับสินค้าที่ระบุในคำขอจดทะเบียนไม่ว่าจะเป็นการใช้กับตัวสินค้าหรือเป็นการใช้โดยโฆษณาสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้านั้นในประเทศไทยมาก่อนที่ผู้ขอจดทะเบียนจะได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันนั้นเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพราะการคุ้มครองแก่สิทธิในเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ต้องเป็นไปตามหลักดินแดน กล่าวคือ ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าต้องได้ใช้เครื่องหมายการค้าของตนภายในอาณาเขตประเทศไทยด้วย ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าจึงจะมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นและได้รับความคุ้มครอง
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 13
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 27

ผู้พิพากษา

ปริญญา ดีผดุง
อร่าม เสนามนตรี
ธัชพันธ์ ประพุทธนิติสาร

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android