คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4488/2555

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 20 เม.ย. 2558 15:13:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
แม้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 6 ที่ 9 ที่ 11 ที่ 14 และที่ 15 ไม่ได้เข้าร่วมประชุมในการประชุมของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า แต่คดีนี้เป็นคดีที่โจทก์ทั้งสามสำนวนในฐานะผู้ร้องขอต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ โดยฟ้องต่อศาลตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 65 วรรคสอง แต่เนื่องจากคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 16 เป็นรายบุคคลก็เป็นการฟ้องในฐานะที่จำเลยที่ 2 เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า ส่วนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 16 ก็เป็นการฟ้องในฐานะที่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 16 เป็นกรรมการในคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า อันเป็นช่องทางที่กฎหมายให้สิทธิกระทำได้และโจทก์ก็ฟ้องคดีเพื่อให้คำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าถูกเพิกถอนไปโดยคำพิพากษาของศาล ไม่ได้ฟ้องให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 16 ซึ่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ารับผิดเป็นส่วนตัวแต่อย่างใด แม้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 6 ที่ 9 ที่ 11 ที่ 14 และที่ 15 จะไม่ได้เข้าร่วมประชุมในการประชุมของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าแต่ก็ต้องถูกผูกพันตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าในครั้งนั้น ย่อมไม่อาจกล่าวอ้างการที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมมาปฏิเสธอำนาจฟ้องของโจทก์ได้ ในส่วนของจำเลยที่ 1 กรมทรัพย์สินทางปัญญา มาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.โอนอำนาจหน้าที่และกิจการบริหารบางส่วนของกรมทะเบียนการค้าฯ พ.ศ.2534 บัญญัติให้โอนบรรดาอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าและกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตรไปเป็นของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ การดำเนินการเกี่ยวกับการจดทะเบียนและการเปลี่ยนแปลงรายการทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 อยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่และการควบคุมของกรมทรัพย์สินทางปัญญาจำเลยที่ 1 เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าวทั้งหมด ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องกรมจำเลยที่ 1 ซึ่งมีอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นผู้แทนกรมจำเลยที่ 1 และเป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าด้วยตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 95 จึงเท่ากับเป็นการฟ้องอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ได้เช่นกัน
นอกจากเครื่องหมายการค้าจะทำหน้าที่ระบุตัวสินค้าว่าเป็นสินค้าของผู้ผลิตรายใดและทำหน้าที่แยกแยะความแตกต่างของสินค้าที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้าสามารถเลือกซื้อสินค้าได้ถูกต้องตามที่ต้องการแล้ว เครื่องหมายการค้ายังทำหน้าที่ควบคุมและรับรองคุณภาพของสินค้าในกรณีที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้เครื่องหมายการค้านั้นด้วย ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นไม่เป็นที่เชื่อมั่นของผู้บริโภคในคุณภาพของสินค้า ซึ่งหน้าที่ของเครื่องหมายการค้าในการควบคุมและรับรองคุณภาพของสินค้านี้ปรากฏโดยนัยของมาตรา 68 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534
การที่โจทก์ระบุในคำฟ้องและในคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสามเครื่องหมายว่า รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีได้อนุญาตให้โจทก์แต่เพียงผู้เดียวมีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าทั้งสามเครื่องหมายซึ่งเป็นเครื่องหมายราชการของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีกับสินค้าโสมเกาหลี โสมแดง และผลิตภัณฑ์โสมแดงย่อมแสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่ารัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีประสงค์จะควบคุมคุณภาพของสินค้าโสมเกาหลี โสมแดง และผลิตภัณฑ์โสมแดงด้วย จึงอนุญาตให้โจทก์ใช้เครื่องหมายราชการทั้งสามเครื่องหมายของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีกับสินค้าโสมเกาหลี โสมแดง และผลิตภัณฑ์โสมแดงที่โจทก์ผลิตออกจำหน่าย เครื่องหมายราชการทั้งสามเครื่องหมายของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีจึงมีลักษณะเป็นเครื่องหมายควบคุมและรับรองคุณภาพสินค้าโสมเกาหลี โสมแดง และผลิตภัณฑ์โสมแดงของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีซึ่งเป็นรัฐต่างประเทศอยู่ด้วย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค.75608 เลขที่ ค.116909 และเลขที่ ค.120027 เป็นเครื่องหมายควบคุมและรับรองคุณภาพสินค้าของรัฐต่างประเทศจึงเป็นการวินิจฉัยในประเด็นตามคำฟ้องและคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสามเครื่องหมายดังกล่าวไม่ใช่การวินิจฉัยเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องและคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสามเครื่องหมายอันจะเป็นการไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 142
เครื่องหมายอักษรจีนคำว่า เป็นเครื่องหมายของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีซึ่งเป็นผู้ใช้กับสินค้าโสมแดงกระป๋อง ถือได้ว่าเครื่องหมายคำว่า เป็นเครื่องหมายราชการของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลี แม้ต่อมารัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีโดยกระทรวงการคลังได้ก่อตั้งโคเรีย โมโนโปลี คอร์ปอเรชัน เพื่อดำเนินกิจการผลิตและจำหน่ายสินค้าโสมแดงและผลิตภัณฑ์โสมแดงแทน โดยอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าอักษรจีนคำว่า และภายหลังมีการปรับโครงสร้างของโคเรีย โมโนโปลี คอร์ปอเรชัน เป็นโคเรีย โทแบกโก แอนด์ จินเซ็ง คอร์ปอเรชัน และในที่สุดมีการก่อตั้งบริษัทโจทก์ให้ดำเนินกิจการนั้นและโจทก์ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าอักษรจีนคำว่า ต่อไป การใช้เครื่องหมายการค้านี้ก็ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลี จึงถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าอักษรจีนคำว่า ยังคงเป็นเครื่องหมายราชการของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีซึ่งเป็นรัฐต่างประเทศอยู่ และนอกจากนี้เครื่องหมายการค้าอักษรจีนคำดังกล่าวยังมีลักษณะเป็นเครื่องหมายควบคุมและรับรองคุณภาพสินค้าโสมเกาหลี โสมแดง และผลิตภัณฑ์โสมแดงของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีซึ่งเป็นรัฐต่างประเทศด้วย สำหรับเครื่องหมาย และเครื่องหมาย ที่โคเรีย โทแบกโก แอนด์ จินเซ็ง คอร์ปอเรชัน เป็นผู้เริ่มนำมาใช้กับสินค้าโสมแดงและผลิตภัณฑ์โสมแดง ก็เป็นเครื่องหมายที่มีอักษรจีนคำว่า อันเป็นเครื่องหมายราชการและเครื่องหมายควบคุมและรับรองคุณภาพสินค้าของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีซึ่งเป็นรัฐต่างประเทศประกอบอยู่ด้วย โดยไม่ปรากฏว่าโคเรีย จินเซ็ง เซนเตอร์ ลิมิเต็ด ผู้ขอจดทะเบียนและผู้มีชื่อเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 332128 ทะเบียนเลขที่ ค.75608 และบริษัท ท. ผู้ขอจดทะเบียนและผู้มีชื่อเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายการค้า ได้รับอนุญาตจากผู้มีอำนาจหรือมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าทั้งสามเครื่องหมายนี้ให้มาจดทะเบียนในนามตนเองในประเทศไทยได้ เมื่อเครื่องหมายการค้าทั้งสามเครื่องหมายเป็นเครื่องหมายที่มีลักษณะเป็นเครื่องหมายราชการและเครื่องหมายควบคุมและรับรองคุณภาพสินค้าของรัฐต่างประเทศ และเป็นเครื่องหมายที่ประกอบด้วยเครื่องหมายราชการและเครื่องหมายควบคุมและรับรองคุณภาพสินค้าของรัฐต่างประเทศ จึงเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามมาตรา 8 (6) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534
คดีนี้เป็นคดีที่โจทก์อุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่มีคำสั่งไม่เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยการฟ้องคดีต่อศาลตามมาตรา 65 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 เมื่อศาลเห็นว่ามีเหตุต้องเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับเครื่องหมายการค้านั้นตามมาตรา 61 (2) ศาลต้องพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นไปเสียทีเดียว ซึ่งมีผลให้การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวถูกเพิกถอนไปโดยคำพิพากษาของศาล ไม่ใช่พิพากษาให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นผู้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นอีก เรื่องนี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้อง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบมาตรา 26 และ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 68
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 95
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45
  • พระราชบัญญัติโอนอำนาจหน้าที่และกิจการบริหารบางส่วนของกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ และของกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการไปเป็นของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ พ.ศ.2535 มาตรา 3
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 65
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 61

ผู้พิพากษา

ปริญญา ดีผดุง
อร่าม เสนามนตรี
ธัชพันธ์ ประพุทธนิติสาร

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android