คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7128/2540

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 

พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 35 ให้ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดตามมาตรา 34 ได้ ถ้าปรากฏต่อศาลว่าคำชี้ขาดนั้นเกี่ยวกับข้อพิพาทที่ไม่สามารถจะระงับโดยทางอนุญาโตตุลาการได้ตามกฎหมายไทยหรือถ้าการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติระหว่างประเทศและโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ดังนี้ เมื่อต้องใช้หลักกฎหมายดังกล่าวปรับแก่คดี แต่จำเลยทั้งสองให้การเพียงว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่ถูกต้องเพราะไม่ได้ให้เหตุผลในการชี้ขาด โดยมิได้อ้างเหตุต่าง ๆดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 34 และ 35 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น ศาลจึงไม่มีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดนั้น
ค่าธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเรื่องค่าใช้จ่ายในการชี้ขาดที่กำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระให้แก่โจทก์ ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นหนี้เงินและโจทก์ได้ชำระแทนจำเลยที่ 1 ไปแล้ว หามิใช่เป็นหนี้ค่าฤชาธรรมเนียมศาล
เมื่อจำเลยไม่ยอมปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ดังนี้โจทก์จึงชอบที่จะยื่นคำร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้ส่งสำเนาคำชี้ขาดถึงจำเลยเพื่อขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศได้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง
คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่มีผลผูกพันผู้ซึ่งไม่ใช่คู่กรณีแม้จำเลยที่ 2 จะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่กรณีที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการก็ตาม ดังนี้ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่อโจทก์
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177
  • พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 23
  • พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 34
  • พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 35

ผู้พิพากษา

ม.ล.เฉลิมชัย เกษมสันต์
อุดม มั่งมีดี
มงคล สระฏัน

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android